Disclaimer บทความนี้เป็นข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่เกิดขึ้นจากการที่ทีมงาน IN4C ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการในด้านต่างๆ ได้แก่ ร.ศ. ดร. อาดัม นีละไพจิตร ภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณกัชกร ทวีศรี ผู้อำนวยการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิโกลบอลแคมปัสเซส ,ประสบการณ์จากทีมงาน ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล (Independent Living – IL) , ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการบางแห่ง และข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งต่างๆ และใช้คำว่าพิการเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
วัตถุประสงค์ของบทความ คือ เพื่อให้ผู้ที่สนใจอยากทำความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการนำไปเป็นจุดตั้งต้นในการริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เนื้อหาในบทความนี้มิได้สะท้อนทุกแง่มุมของประเด็นความซับซ้อนของผู้มีความหลากหลายทางศักยภาพ (Different Abilities)
Key Learning คือ เลนส์การมองผู้พิการในสังคมล้วนแล้วแต่เป็นการมองจากมุมที่ “ด้อยกว่า” และ “ไม่สามารถ” ทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือน “คนปกติ” แค่คำว่า ปกติ ก็เป็นการแบ่งแยกให้เห็นว่าสังคมมีสิ่งที่นิยามว่า ปกติ และไม่ปกติ ตามคนส่วนใหญ่ ทำให้คนเสียงที่ดังน้อยกว่าไม่ถูกได้ยิน รู้สึกแปลกแยกและสงสาร ทั้งที่จริงแล้วหากเรามองลองมองด้วยเลนส์ที่ว่า ความพิการ คือ “ความหลากหลาย” ที่เราควรจะเปิดรับและให้โอกาสกับคนทุกเป็นส่วนหนึ่งอย่างสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โลกนี้คงจะเป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้นอีกมาก
สถานการณ์ผู้พิการในประเทศไทย
จากการสํารวจคนพิการเดือนมีนาคม ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ UNICEF พบว่าประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 3,694,379 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรทั้งหมด โดยมีประมาณ 2 ล้านคน เป็นผู้ถือบัตรประจำตัวคนพิการ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2563)
เราแบ่งสามารถประเภทความพิการ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ แบบที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา และแบบที่มองไม่เห็นด้วยตา โดย ตามกฏหมายแบ่งประเภทคนพิการแยกย่อยเป็น 7 ประเภท ดังนี้2
1. พิการทางการเคลื่อนไหว (50% ของผู้พิการทางการเคลื่อนไหว คือผู้สูงอายุ) และร่างกาย (รวมถึงโรคด่างขาว เท้าแสนปม แคระ)
2. พิการทางการได้ยิน หรือการสื่อความหมาย
3. พิการทางการเห็น
4. พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
5. พิการทางสติปัญญา (IQ ต่ำกว่า 70, ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น)
6. พิการทางออทิสติก
7. พิการทางการเรียนรู้ (Learning Disorder)
ประเด็นเรื่องความพิการไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอย่างที่เข้าใจกัน เพราะความพิการบางประเภทอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่เราอาจไม่รู้ ไม่ทันสังเกต สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ณ ปัจจุบัน สถิติผู้สูงอายุ สัญชาติไทย และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ธันวาคม 2565 18.94% ในอนาคตเมื่อคนในครอบครัว หรือแม้แต่ตัวเราเองแก่ตัวลง เรามีโอกาสจะได้เข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของประเด็นนี้ไม่ช้าก็เร็ว
สรุปประเด็นที่น่าสนใจ
- Equity การเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (Accessibility) เป็นเงื่อนสำคัญของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญอื่นแทบทั้งหมด การเข้าไม่ถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น การเดินทาง การเคลื่อนไหว สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ บริการทางแพทย์ การรักษาและฟื้นฟู การศึกษา เมื่อผู้พิการเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นคนพิการถูกผลักให้เป็นภาระของคนในครอบครัวและสังคมโดยปริยายทั้งที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ แต่ต้องการปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
- Inclusion การมีส่วนร่วมกับสังคมในมิติต่าง ๆ เป็นประเด็นที่เรามักมองข้าม เนื่องจากการตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับคนพิการ ความหลากหลายของความพิการยังน้อย ปัจจัยหนึ่งมาจากเมื่อคนพิการไม่สามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม นำไปสู่ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ขาดประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกัน ทำให้คนในสังคมรู้สึกแปลกแยกกับคนพิการ ส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น ระดับบุคคล ไม่รู้จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับคนพิการ พวกเขาเหล่านี้จึงถูกตัดขาดออกจากสังคม กิจกรรมต่าง ๆ การเข้าถึงข่าวสาร สื่อ ความรู้ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ระดับสังคม ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม บุคลากร ครู ที่เข้าใจการสนับสนุนคนพิการให้เข้าถึงศักยภาพของตนเอง ในระดับโครงสร้าง ไม่ได้ออกแบบให้ครอบคลุมความพิการที่มีความหลากหลาย
- Diversity ความเชื่อและมายาคติของสังคมเกี่ยวกับคนพิการที่มองจากมุมว่า ไม่ปกติ ด้อยกว่า บางความเชื่อเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเวร กรรม บาปบุญ ทำให้คนพิการถูกปฏิบัติด้วยความสงสารและการสงเคราะห์ ทำบุญทำทาน ทั้งในเชิงระบบ และ คนในสังคม ทำให้การสนับสนุนให้ผู้พิการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำเป็นพิเศษ ซึ่งการกดทับของสังคมส่งผลต่อความเชื่อและทัศนคติที่ผู้พิการมีต่อตนเอง (Self Stigma) ว่าทำอะไรไม่ได้ เป็นภาระ หากออกมาพูดก็จะโดนมองว่าชอบเรียกร้องความสนใจ
Insights เกี่ยวกับประเด็นผู้พิการ
Equity
1. สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้พิการ
จากผู้พิการทั้งหมดในประเทศไทย 3.7 ล้านคน มีคนพิการประมาณ 2 ล้านคน (จาก 3.7 ล้าน) เป็นผู้ถือบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถเข้าถึง สิทธิ์ประโยชน์จากรัฐ เช่น ประกันสุขภาพ (รักษาฟรี) ได้รับ/ยืมอุปกรณ์ช่วยเหลือ เรียนฟรี ไม่เกินป. ตรี ในสถาบันของรัฐ เงินช่วยเหลือรายเดือน 800 บาท (ถ้ามีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้เพิ่มเป็น 1000 บาท โดย มีคนพิการแค่ 3.7 แสนคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น)
1.1 การเข้าถึงสวัสดิการรัฐ
การที่มีคนพิการอีกเกือบครึ่งที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น
- คิดว่าตนเองไม่ได้พิการขนาดนั้น ไม่จำเป็นต้องมีบัตรก็ได้
- ความพิการบางประเภทดูเหมือนคนปกติ เช่น การบกพร่องทางการเรียนรู้ Learning Disorder , IQ ต่ำ กว่าครอบครัวหรือโรงเรียนจะรู้ใช้เวลา เด็กกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม
- ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ เคลื่อนไหวไม่สะดวกจนเข้าข่ายคนพิการ บางครั้งครอบครัว หรือตนเองไม่รู้ว่ามีสิทธิ์ไปยื่นขอบัตรคนพิการได้
- ครอบครัว หรือตนเอง ไม่อยากถูกตีตราว่า เป็นคนพิการ มีลูกพิการ มีพ่อแม่พิการ รู้สึกถูกตีตรา รู้สึกอับอาย
- หากไม่ใช่พิการแบบที่มองเห็นได้ด้วยตา ผู้พิการจำเป็นต้องต่ออายุทุก 6 ปี
- เดินทางลำบาก
- ไม่มีบัตรประชาชน
- ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ในการออกใบรับรองว่าใช้เกณฑ์อะไรในการวัดความพิการ เกณฑ์ตามการวินิจฉัยโรค (ICD10) ที่มองว่า ความพิการที่ไม่มีโอกาสหาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตระยะยาว หรือ ใช้เกณฑ์ตามฟังก์ชั่นในการใช้ชีวิต (ICF) คือ แม้บางโรคมีโอกาสหายแต่ต้องใช้เวลานาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทำให้ไม่สามารถทำงาน หรือดำรงชีวิตตามปกติได้ เช่น โรคทางจิตเวช
การไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทำให้เขาพลาดโอกาสที่จะรักษา ฟื้นฟู เยียวยา หรือบำบัด ที่เหมาะสม โดยถ้าเทียบกับบัตรทองที่ต้องใช้สิทธิ์เฉพาะโรงพยาบาลที่ระบุเท่านั้น แต่บัตรประจำตัวผู้พิการสามารถใช้สิทธิ์กับสถานบริการของรัฐที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการทำหนังสือส่งตัว ทำให้สามารถเข้าถึงหรือไปใช้บริการสถานบริการที่สะดวก ทันสมัย มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากอุปกรณ์ หรือยาบางชนิดที่มีราคาแพง จะมีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น
ความท้าทาย ในประเด็นนี้ เช่น : ทำอย่างไรให้ผู้พิการ สามารถมีบัตรประจำตัวและเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองได้
1.2 อุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการ
- อุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการถูกจัดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องจัดให้เหมาะสมตามลักษณะของความพิการ และรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของคนคนนั้น เช่น เครื่องช่วยฟัง แขน/ขาเทียม วีลแชร์ อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ สั่งทำให้เหมาะกับแต่ละคนตามขนาดตัว น้ำหนัก ความสูง บริบทการใช้งาน แต่พบว่าการเข้าถึงอุปกรณ์เฉพาะบุคคลนั้น มีขั้นตอนมาก ขึ้นกับแพทย์และสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา
- สิทธิ์ในการเบิกอุปกรณ์ สามารถเบิกได้ทุก 5 ปี หากอุปกรณ์ชำรุด เสียหาย ก่อนระยะเวลายังไม่สามารถเบิกใหม่ได้ ต้องซ่อมแซมเท่านั้น
- บริบทชีวิตของผู้พิการแต่ละคน อาจจะจำเป็นต้องมีอุปกรณ์มากกว่า 1 แบบ หรือ 1 ชุด เช่น มีบ้าน 2 ชั้น การใช้ชีวิตอยู่ชั้นบนจำเป็นต้องใช้วีลแชร์ 1 ตัว เป็นแบบใช้ในบ้าน ด้านล่างอีก 1 ตัว เป็นแบบที่สามารถใช้งานนอกบ้านได้ วีลแชร์ที่เหมาะกับเข็นพื้นราบหรือพื้นขรุขระ ผู้พิการบางคนจำเป็นต้องวีลแชร์ที่เหมาะกับการออกนอกบ้านด้วยตนเอง บางคนจำเป็นมีคนเข็นให้ หรือใช้แบบไฟฟ้าที่แม้จะพิการรุนแรงก็ยังสามารถพอใช้มือบังคับรถเข็นได้ด้วยตนเอง) เป็นต้น
- กายอุปกรณ์ จัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ต้องได้รับอนุญาตจากอย. ส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดีมักผลิตจากต่างประเทศมีภาษีนำเข้าในเข้า ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาสูง(เกินจำเป็น) เป็นอุปสรรคในการเข้าถึง แม้ผู้พิการหลายคนจะพอมีกำลังจ่ายด้วยตนเองก็ตาม
- ปัจจุบันแม้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนผ่านการบริจาคต่าง ๆ แต่ยังไม่สามารถรองรับความหลากหลายได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทและความหลากหลายของความพิการ ของที่บริจาคจำนวนมากจึงไม่สามารถใช้งานได้ (แต่ผู้รับไม่กล้าปฏิเสธเพราะเกรงใจ กลัวผู้บริจาคเสียหน้า กลัวจะไม่ได้รับของฟรีอีก) สำหรับผู้บริจาคหากอยากบริจาคกายอุปกรณ์ ควรพิจารณาแนวทางการบริจาคที่ผู้รับบริจาคได้รับการประเมินจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้เขามีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับตนเองและสามารถใช้งานได้จริง
ความท้าทายในประเด็นนี้ เช่น : ทำอย่างไรให้อุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการที่มีคุณภาพ ใช้งานได้จริง เข้าถึงได้ ในราคาที่เหมาะสม
2. การเดินทาง
2.1 การเข้าถึงการเดินทางสาธารณะในเมืองของผู้พิการเป็นเรื่องยากและต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติหลายเท่า ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน เช่น จากบ้านไปป้ายรถเมล์ สายรถเมล์ที่ผู้พิการสามารถขึ้นได้อย่างปลอดภัย คนขับหรือกระเป๋ารถเมล์ที่เข้าใจวิธีการใช้งาน ที่จอดรถผู้พิการที่เพียงพอ ผู้พิการยังขาดข้อมูลที่จะใช้ประกอบการเดินทางสาธารณะ ว่า เส้นทางไหนไปได้ มีห้องน้ำที่สามารถเข้าได้ จุดไหนมีลิฟท์ที่ใกล้ที่สุดเพื่อเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย
เมื่อการเดินทางสาธารณะไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก จึงเป็นการผลักภาระให้เขาต้องใช้บริการรถแท็กซี่ และมีค่าใช้จ่ายการเดินทางสูงกว่าคนทั่วไปมาก
จากประสบการณ์สั้นๆ 1 วันของเราในการขึ้นรถสาธารณะ พร้อมกับวีลแชร์ พบว่า
- รถเมล์มองไม่เห็นว่ามีผู้พิการรออยู่ที่ป้ายรถสาธารณะ ในชีวิตปกติ พี่ ๆ ทีม IL บอกว่า ต้องไปยืนรอก่อนถึงป้ายไกลๆ หน่อยให้คนขับมองเห็น ซึ่งมักจะเป็นจุดที่ไม่มีหลังคา ไม่มีร่มเงา ต้องตากแดด ตากฝนรอ
- เมื่อคนขับมองไม่เห็น รถเมล์มาจอดห่างเกินไป ไม่สามารถพาดสะพานได้ คนขับพยายามบอกให้ผู้พิการและผู้ช่วยเข็นรถลงฟุตบาท ซึ่งไม่มีทางลาด (นอกเสียจาก ยกวีลแชร์ลง มีความเสี่ยงต่อผู้พิการ)
- คนขับและกระเป๋าที่เจอไม่มีประสบการณ์ในการใช้งานสะพานพาดและเข็มขัดวีลแชร์บนรถ ใช้เวลาในการจัดเตรียมหลายนาที อาจจะทำให้ผู้โดยสารคนอื่นรู้สึกเสียเวลา
- เมื่อถึงที่หมาย บางแห่งไม่มีฟุตบาท ทางลาดบนรถต้องพาดลงกับพื้นถนนด้วยองศาที่ลาดชัน และอันตราย

ความท้าทายในประเด็นนี้ เช่น : ทำอย่างไรให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการเดินทางพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ทำอย่างไรให้ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะมีความรู้ในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการอย่างปลอดภัย
2.2 การเดินทางไปพบแพทย์และตรวจสุขภาพ เป็นความลำบากอย่างหนึ่งของผู้พิการ
- การขับรถไปโรงพยาบาลเอง โรงพยาบาลที่จอดรถหนาแน่น ไม่มีที่จอดรถเพียงพอสำหรับผู้พิการ
- เนื่องจากระบบให้บริการโรงพยาบาลยังไม่เป็นแบบ one-stop service จำเป็นต้องติดต่อหลายจุด หลายตึก ใช้เวลามาก และจำเป็นต้องมีผู้ช่วยไปด้วย เช่น ญาติพ่อแม่พี่น้อง ส่งผลให้ผู้ดูแลต้องหยุดงาน ขาดรายได้ หรือ ผู้พิการต้องรอ จนกว่าผู้ให้ความช่วยเหลือมีเวลาว่าง เพื่อพาไปพบแพทย์
- หากมีความพิการหลายประเภท หรือ มีความเจ็บป่วยประเภทอื่นร่วมด้วย การไปหาหมออาจจะใช้เวลามากกว่า 1 วัน
- พื้นที่นอกเมืองห่างไกล ต่างจังหวัดแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้พิการจะใช้การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ผู้พิการจำนวนมาก ต้องจ้างเหมารถ เพื่อเดินทางไปที่ต่างๆ หาหมอ หลายกรณีต้นทุนในการจ้างเหมาสูงถึงวันละ 3,000 บาท เพราะต้องให้คนขับรอทั้งวันเพื่อรอรับกลับ
ความท้าทายในประเด็นนี้ เช่น ทำอย่างไรให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างง่าย สะดวก ประหยัดเวลา ด้วยตนเอง
2.3 การเดินทางด้วยรถยนต์และใบขับขี่
- แม้จะมีกฏหมายกำหนดให้คนพิการตามประเภทที่กำหนดสามารถทำใบขับขี่ได้ แต่พบว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องยังมีความไม่เข้าใจ บางแห่งไม่อนุญาตให้ทำได้ คนพิการจึงต้องเดินทางไปยังสำนักงานขนส่งที่บอกต่อ ๆ กันว่าสามารถออกใบขับขี่ได้ออกใบขับขี่ให้ซึ่งอาจอยู่ไกลบ้าน
- อุปกรณ์เสริมติดตั้งรถยนต์สำหรับคนพิการมีราคาสูง เช่น Hand control, Wheel chair lift
ความท้าทายในประเด็นนี้ เช่น ทำอย่างไรให้อุปกรณ์เสริมสำหรับเดินทางสำหรับผู้พิการ มีราคาเหมาะสม เข้าถึงได้ไม่ยาก เหมาะสมกับประเภทความพิการที่หลากหลาย
2.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการให้ความช่วยเหลือตามสมควรในการเดินทาง
- แม้ตามกฏหมายแล้ว ผู้ให้บริการคมนาคมทุกประเภทจำเป็นจะต้องมีผู้ที่มีความรู้และได้รับการอบรม เกี่ยวกับผู้พิการอย่างน้อย 1 คน แต่ในความเป็นจริงพบว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ไม่มีความรู้ความชำนาญในการช่วยเหลือคนพิการ บางสนามบินหรือสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ หรืออำนวยความสะดวกแบบมีเงื่อนไขต้องช่วยเหลือตนเอง เดินขึ้นลงได้ด้วยตนเอง ผลักให้ผู้พิการไปใช้สายการบิน Full Service ขณะเดียวกันไม่ใช่คนทุกคนจะสามารถเข้าถึงการให้บริการแบบ full service ได้
- ป้ายสัญลักษณ์บอกทางสำหรับผู้พิการตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในที่สาธารณะ และที่ส่วนบุคคลแทบไม่มี เช่น ที่จอดรถคนพิการ มีชั้นไหนบ้างในอาคาร (ต้องขับวนหาเอง) จุดไหนมี รปภ สำหรับให้ความช่วยเหลือ (การแปะ QR code ให้ไปสแกนตามเสาในที่จอดรถ สำหรับผู้พิการ ไม่ช่วยอะไร เพราะเขาต้องไปให้ถึงเสาเพื่อสแกน QR code ได้ก่อน แต่ในความเป็นจริง เขาวนหาที่จอดยังไม่ได้ ตำแหน่งทางลาด/ห้องน้ำ มีจุดไหนที่ใกล้ที่สุด หากไปสถานที่หนึ่ง สามารถใช้เส้นทางไหนได้บ้าง
- ผู้พิการวีลแชร์บางกลุ่มพยายามที่จะเดินทางอย่างอิสระด้วยตนเอง โดยปรับรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างดัดแปลงย้ายมือจับให้สามารถนำวีลแชร์เข็นขึ้นรถพ่วงข้างและบังคับได้ด้วยตนเอง และสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่เป็นการดัดแปลงไม่ถูกกฏหมาย เมื่อมีการต่อทะเบียนจะต้องตัดต่อหัวรถมอเตอร์ไซค์กลับตามเดิม เพื่อทำการต่อทะเบียน
เครดิตภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารชลบุรี-ระยอง
- ต่างจังหวัด พื้นที่ห่างไกล ยากจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานหน่วยงานภายนอก แทบจะเป็นไปได้ยากมากที่ผู้พิการจะสามารถเดินทาง ออกจากบ้าน เข้ามามีส่วนร่วม ปฏิสัมพันธ์ใดๆ ในสังคม (1669 รับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น)
ความท้าทายที่น่าสนใจเช่น : ทำอย่างไรให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สามารถมีระบบความช่วยเหลือ หรือประสานงานเครือข่าย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมได้
3. การใช้พื้นที่สาธารณะของคนพิการ
3.1 ทางลาดจำนวนมาก ผู้พิการไม่สามารถใช้งานได้จริงบนพื้นฐานของการชีวิตอย่างอิสระ (ไม่ต้องมีคนช่วยเหลือ) หากทางลาดลาดชันมากเกินไป แม้จะใช้ได้แต่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย เบรลล์บล็อก (Braille Block) สำหรับคนตาบอดไม่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม และปลอดภัย จากการสังเกตพบว่า เบรลล์บล็อกในพื้นที่สาธารณะในประเทศไทย ถูกติดตั้งพอเป็นพิธี จากผู้ไม่มีความรู้ทำให้ใช้งานจริงไม่ได้ เช่น สุดที่ต้นไม้ หรือ เสาไฟ , อยู่ชิดริมทางแยก/ถนนมากเกินไป จนอาจเกิดอันตราย สัญญาณเสียงบริเวณทางแยก หรือสัญญาณไฟจราจร ไม่ได้มีทุกแห่ง หรือมีแต่เสียงเบาเกินไป

3.2 ที่จอดรถคนพิการ มีจำนวนจำกัด และมักจะมีคนที่ไม่พิการไปจอดแทนที่
3.3 ห้องน้ำคนพิการ มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ออกแบบ คนก่อสร้างอาจจะไม่ทันสังเกต ทำให้บางแห่งไม่สามารถใช้งานได้จริง ใช้ได้ลำบาก หรือไม่สามารถใช้งานด้วยตัวเองได้ เช่น แคบเกินไป เข็นวีลแชร์เข้าได้แต่ออกไม่ได้ต้องถอยหลังออก รถเข็นเลี้ยวไม่ได้ ประตู ประตูห้องน้ำเป็นบานผลักเข้า/ออกทำให้ต้องมีผู้ช่วยเหลือในการเปิด/ปิดประตู (โดยไม่จำเป็น) พื้นที่ไม่พอในการขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบทจากวีลแชร์มาที่โถ
3.4 การออกแบบพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของวิชาชีพเฉพาะ เช่น วิศวะ และสถาปนิก ซึ่งแต่ละคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับ universal design แตกต่างกัน หลายคนคิดว่าการออก Universal Design จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่สูง ทั้งที่จริง บางอย่างไม่จำเป็นต้องแพงและไม่ควรจะแพง แต่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานขั้นพื้นฐาน คือความปลอดภัยและการเข้าถึงได้
3.5 ในพื้นที่ห่างไกล ชนบท การบังคับใช้กฏหมายอาคารและขนส่งมวลชนต่าง ๆ ยังไม่ทั่วถึง3
ความท้าทายที่น่าสนใจเช่น : ทำอย่างไรให้ Universal Design เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ เพียงพอต่อความต้องการของผู้พิการ บนต้นทุนที่ผู้ให้บริการสามารถจ่ายได้
4. การเข้าถึงศึกษาของคนพิการ
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมมั่นคงของมนุษย์ เดือนกันยายน 2565 ระบุว่ามีคนพิการได้รับการศึกษาถึง ร้อยละ 78.28 (ของคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ) หรือประมาณ 1.67 ล้านคน แต่คนพิการส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาถึงแค่ระดับประถมศึกษาคิดเป็น 81.26 % รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษา 11.93 % ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 2.5% และอุดมศึกษา 1.74%
4.1 แม้คนพิการจะมีสิทธิ์ในการเรียนฟรีในสถาบันของรัฐ แต่ในความเป็นจริงคนพิการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท และศักยภาพของตนเองได้ด้วยหลากหลายสาเหตุ เช่น แม้จะอยากเรียนใกล้บ้าน แต่ไม่ใช่ทุกสถาบันของรัฐจะรับคนพิการ สถาบันการศึกษาอาจปฏิเสธคนพิการ หรือรับบางประเภท ด้วยสาเหตุของความไม่พร้อม เช่น โรงเรียนขาดสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีห้องน้ำคนพิการ ตึกเรียนมีหลายชั้นแต่ไม่มีลิฟท์ ทำให้คนพิการไม่สามารถเลือกเรียนได้ตามสิทธิ์ใกล้บ้านได้ หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพความพิการได้
สำหรับโรงเรียนเฉพาะทางของผู้พิการ บางแห่งมีที่พักให้ บางแห่งไม่มี บางชุมชนเลือกที่จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เฉพาะในชุมชน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู คนในชุมชนให้การศึกษาแก่ผู้พิการเอง โดยมีครูการศึกษาพิเศษที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ ฝึกอบรม
4.2 การฝึกทักษะในการปรับตัว เอาตัวรอด เตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตของผู้พิการแต่ละคน ขึ้นกับครอบครัว และบริบทแวดล้อม เช่น คนหูหนวกบางคนได้รับการฝึกให้อ่านปาก ไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือ บางคนใช้วิธีเปิดโทรศัพท์ที่มี app ที่พูดแล้วขึ้นตัวอักษรทันที จากนั้นเขียนตอบโต้ คนที่มีทักษะเหล่านี้ มีโอกาสที่จะเข้าสังคม สื่อสาร ทำงานร่วมกับคนทั่วไปได้ ต่างจากเด็กหูหนวกที่ต้องใช้ล่ามอย่างเดียว
4.3 เด็กที่ไม่ได้เข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ ทำให้เขาพลาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะต่างๆ ในเวลาที่ควร
ความท้าทายที่น่าสนใจเช่น : ทำให้อย่างไรให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะ ความรู้ ตามบริบทครอบครัว เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ
ทำอย่างไรให้โรงเรียนใกล้บ้านมีความพร้อมที่จะรับนักเรียนพิการเรียนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและการอยู่ร่วมกันทั้งสองฝ่าย หรือทำอย่างไรที่จะช่วยให้เด็กพิการสามารถเดินทางไปโรงเรียน/ได้รับการศึกษาได้สูงที่สุด
Inclusion
เมื่อผู้พิการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ทั้งการเดินทาง การศึกษา เราจึงไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนพิการมากนัก ทำให้ขาดประสบการณ์และความรู้ในการอยู่ร่วมกัน เราไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร หลายครั้งที่เราละเลยเรื่องละเอียดอ่อนเล็กๆ น้อย ๆ เช่น ใส่ใจกับการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ ถนนหนทาง สื่อ ความบันเทิง งานอีเว้นท์ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น การออกแบบอาคาร ระบบขนส่งมวลชน การออกแบบระบบและโครงสร้างต่าง มักมาจากผู้ที่ไม่เข้าใจ
1. งานและรายได้
เมื่อผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองได้ พัฒนาทักษะและศักยภาพตามที่ควรจะเป็น โอกาสที่จะได้ทำงานที่ดี มีรายได้เพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในสังคมจึงเป็นไปได้ยาก
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมมั่นคงของมนุษย์ เดือนกันยายน 2565 คนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพมี จำนวน 312,096 คน ร้อยละ 36.50 (ของจำนวนคนพิการวัยทำงาน 15-59 ปี ทั้งหมด 855,025 คน) หรือคิดเป็นประมาณ 8% ของคนพิการทั้งหมด 3.7 ล้านคนในประเทศ
จากรายงานการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมทางสังคม ระบุว่า
1.1 การเข้าถึงโอกาสหางาน เช่น ความซับซ้อนในการเข้าถึงข้อมูล ข้อจำกัดทางร่างกายของการติดต่อประสานงาน ข้อจำกัดทางการรับรู้และความรู้ของคนพิการเอง ทำให้คนพิการเข้าไม่ถึงงาน
1.2 การปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับผู้พิการเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนพิการไม่ได้งาน
1.3 การกำหนดตำแหน่งงานที่มาจากนายจ้างซึ่งไม่เข้าใจความหลากหลายและข้อจำกัดของคนพิการ ทำให้ไม่ปรับงานให้สอดคล้องกับคนพิการ แม้คนพิการจะสามารถเข้าไปทำงานได้ แต่ทำให้ทำงานได้ไม่นาน
จาก MUSEF Webinar อ. อาดัม เล่าว่า การสำหรับงานบางตำแหน่ง กำหนดวุฒิขั้นต่ำปริญญาตรี ทำให้มีคนพิการเพียงแค่ไม่ถึง 2% เข้าข่ายสมัครได้ ทั้งที่จริงแล้วเนื้องานไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิปริญญาตรีก็ได้ ทำให้คนพิการจำนวนมากที่ได้รับการศึกษาไม่ถึงป.ตรี ขาดโอกาสในการเข้าถึงงาน2
1.4 ตำแหน่งงานสำหรับคนพิการที่รัฐและเอกชนสามารถจ้างได้ตามพรบ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ยังมีว่างอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในองค์กรภาครัฐ ที่จ้างได้เพียง 12.21% หรือ 2,144 คน จาก 17,562 คน เท่านั้น ในคณะที่เอกชนสามารถจ้างได้ 97.14%
1.5 แม้จะได้งานทำแล้ว แต่การทำงานยังมีอุปสรรค์ต่างๆ เช่น การเดินทางไปทำงาน หากที่ทำงานไกลบ้าน ผู้พิการจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นคชจที่สูงกว่าคนปกติ หากต้องอยู่หอพัก จะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เทียบกับรายได้ที่มักจะได้ในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้เงินไม่พอจ่าย สุดท้ายแม้จะได้งาน แต่ไม่สามารถทำงานนั้นได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ วงจรอุบาทของการจ้างงานคนพิการ
มีตำแหน่ง แต่หาคนมาสมัครไม่ได้ -> มีคนมาสมัคร แต่ไม่รับเข้าทำงานเพราะคุณสมบัติไม่ได้ -> ได้งาน แต่ทำงานไม่ได้ ->ได้งาน ทำได้ แต่ทำได้ไม่นาน
ความท้าทายที่น่าสนใจ เช่น : ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับงาน และมีทักษะทางสังคม ทักษะการทำงานที่พร้อมต่อการทำงานในหน้าที่ต่างๆ ที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเองได้ทำอย่างไรภาครัฐจะสามารถสร้างงานที่เหมาะสมกับศักยภาพและรับผู้พิการหลากหลายประเภทเข้าทำงานได้มากขึ้น
ทำอย่างไรจะสามารถแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการในการปรับพื้นที่ทางกายภาพในสถานประกอบการให้เหมาะสมกับสภาพความพิการได้ ไม่เฉพาะเพื่อการจ้างงานคนพิการ แต่สำหรับทุกคน
2. ความมั่นคงในชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดี
2.1 ตามกฏหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 สนับสนุนการจ้างงานดังนี้
มาตรา 33 หน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีพนักงานเกิด 100 คนขึ้นไป ต้องจ้างคนพิการทำงาน สำหรับนายจ้างแล้ว มีความยุ่งยาก และใช้เวลา ต้องเตรียมเอกสารต่างๆ จำนวนมาก3
มาตรา 34 หากองค์กรหรือหน่วยงานไม่ได้จ้างงานตามมาตรา 33 จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งรัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มมีอำนาจตัดสินใจและเข้าถึงกองทุนเท่านั้น ไม่ได้ถูกนำมาจัดสรรใช้ประโยชน์ทางตรงกับคนพิการหมู่มาก
มาตรา 35 หากไม่รับคนพิการเข้าทำงาน และไม่ส่งเงินเข้ากองทุน สามารถส่งเสริมอาชีพ หรือให้การสนับสนุนช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ
ในความเป็นจริงแล้วการจ้างงานคนพิการ ส่วนใหญ่เป็นการจ้างด้วยค่าแรงขั้นต่ำ จ้างได้ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่สามารถอยู่ได้ในชีวิตจริง เนื่องจากคนพิการมีต้นทุนในการใช้ชีวิตประจำวันที่สูงกว่า เช่น การเดินทางมาทำงาน หากบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน ต้องอยู่หอ เช่าบ้าน เพื่อประหยัดค่าเดินทาง หรือนั่งรถแทกซี่ จ้างเหมารถประจำเพื่อเดินทางมาทำงาน ครอบครัวเป็นห่วงหากต้องไปอยู่ตามลำพัง
2.2 การขยายงานนวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคม/เชิงพื้นที่ยังมีโอกาสอยู่มาก โดยมีองค์กรตัวกลางที่มีหน้าที่จับคู่ บริษัท ผู้พิการ กับ ชุมชน รวมไปถึงการรับสมัคร เชื่อมต่อ จัดหางาน และประเมินผล
เช่น การที่บริษัทจ้างงานคนพิการเป็นตัวแทนของบริษัทให้ทำงานอยู่ในชุมชนของตนเอง ดูแลวัด ดูแลโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ทำงานในโรงพยาบาล เสมือนเป็นพนักงานบริษัทในการทำหน้าที่ CSR แทน
ทั้งนี้ช่องว่างทางกฏหมายของการจ้างงานแบบนี้ คือ บริษัทจะสามารถจ้างคนเดิมต่อเนื่องได้แค่เพียง 3 ปีเท่านั้น จากนั้นต้องรับเป็นบุคลากรประจำ และโมเดลความยั่งยืนขององค์กรตัวกลางที่ทำการจับคู่
2.3 การเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานเป็นไปได้ยาก เนื่องจากได้รับมอบหมายงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะขั้นสูง แต่เป็นงานใช้แรงงาน หรืองานที่ทำแบบจำเจ ไม่มีการพัฒนาในสายอาชีพ
2.4 เข้าถึงธุรกรรมทางการเงิน คนพิการถูกสังคมมองว่า ด้อยความสามารถ ประกอบกับไม่ค่อยมีความมั่นใจ และไม่มีความรู้ในการขอสินเชื่อซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากมาย การขอสินเชื่อจากธนาคารทั่วไปทำได้ยาก ไม่สามารถทำได้ตามลำพัง ต้องพึ่งผู้ดูแล ผู้ปกครอง หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องหาหลักประกันมากกว่าคนทั่วไป
จากการสัมภาษณ์ พี่ก๊ะ พบว่า การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น กู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ทำได้ยากกว่าคนทั่วไปมาก ทั้งการเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ แม้จะมีเงินผ่อนแต่ธนาคารก็ไม่ปล่อยเงินกู้ให้
2.5 เมื่อคนพิการไม่สามารถกู้ซื้อทรัพย์สินของตนเองได้แล้ว จำเป็นต้องพึ่งพิงชื่อผู้อื่นในการกู้ บ้าน รถยนต์ หากมีปัญหาในภายหลัง ทำให้เกิดความยุ่งยาก และมักจะเป็นฝ่ายเสี่ยเปรียบ และโดนโกงได้ง่าย
2.6 ประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ไม่สามารถทำได้ เพราะถูกมองว่ามีความเสี่ยง แม้จะมีเงินซื้อประกัน ดูแลสุขภาพ และชีวิตตัวเอง (บางทีอาจจะดูแลสุขภาพมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำ) แต่ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพมิติอื่นๆ หรือ ได้รับบริการทางสุขภาพที่สะดวกสบายได้ (ต้องใช้สิทธิ์คนพิการ ในรพ. รัฐเท่านั้น หากไปรพ.เอกชนต้องจ่ายเอง)
ช่องว่างและโอกาส : การสร้าง Disability Awareness ในองค์กรรัฐและเอกชน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้หน่วยงานมีความเข้าใจและสามารถ ปรับ ออกแบบประเภทงานที่มีความเหมาะสมกับคนที่มีศักยภาพหลากหลายได้ (Job design) เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อยๆ ตามมาตรา 33 หรือ 35 ซึ่งผู้พิการจะได้รับผลประโยชน์ทางตรงมากกว่าสบทบเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถสร้างการเติบโตทางอาชีพได้ จะช่วยให้การจ้างงานผู้พิการมีความยั่งยืนและเป็นประโยชน์กับองค์กรมากขึ้น เป็นการช่วยสนับสนุน 4 SDGs ได้แก่ 1- No povert 8- Decent work and economic growth 10-Reduce inequality 17- Partnerships for the goal
การใช้แนวคิด Community counselling พัฒนาคนกลางที่มีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายและความพิการ เพื่อเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่ counseling ให้กับทั้งฝั่งองค์กร/ชุมชน และคนพิการ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถปรับตัว และอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ จะเป็นใครก็ได้ในองค์กร หรือชุมชน
อีกฝั่งคือโอกาสในการพัฒนาทักษะคนพิการให้เหมาะกับงาน การพัฒนาทักษะการหางาน สัมภาษณ์งาน ให้คนพิการมีความมั่นใจสามารถแสดงศักยภาพ ความสามารถในการเข้าถึง ความรู้ ข้อมูลที่เกี่ยวกับงานยังมีโอกาสอีกมาก
3. สุนทรียภาพในชีวิต
เมื่อพูดถึงประเด็นผู้พิการในสังคม เรามักคิดถึงแต่ความจำเป็นขั้นพื้นฐานมาจากมุมมอง “สงเคราะห์” “ช่วยเหลือ” ส่วนใหญ่แล้ว ความช่วยเหลือมักอยู่ในระดับพื้นฐานไม่อาจเพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
คำถามน่าคิดจากพี่ก๊ะ กชกร คือ
“คนพิการสามารถมีสุนทรียภาพในชีวิตมากน้อยแค่ไหน? สืบเนื่องจากการเข้าถึงการศึกษาจำกัด กายอุปกรณ์ที่มี สวัสดิการที่ได้รับ ทำให้ชีวิตยากที่จะไปถึงการดำรงชีวิตอย่างมีอิสระ และสุนทรียภาพ ในขณะที่เราทุกคนเวลาอยากไปไหนสักแห่งก็สามารถไปได้ อยากจะไปดูหนังสักเรื่อง ไปกินเหล้ากับเพื่อน ไปเที่ยวธรรมชาติ แม้ไม่มีรถก็สามารถขึ้นเรื่องบิน เช่ารถตู้ไปกับเพื่อนได้ แต่คนพิการทำแบบนั้นไม่ได้”
หากเทียบกับความต้องการพื้นฐาน 5 อย่างของ Maslow แล้ว สิ่งที่ผู้พิการได้รับ อยู่ในระดับความต้องการทางกายภาพ มีอาหารกิน มียารักษาโรค แต่ยังไปไม่ถึงความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิต
แม้จะมีงานทำแต่งานที่ได้รับยังขาดโอกาสในการเจริญก้าวหน้าในอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครั้ว อีกทั้งมนุษย์ทุกคนต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีเพื่อน สังสรรค์ ไปเที่ยวและทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ไม่สามารถไปได้มาไหนได้อย่างสะดวก ด้วยตนเอง หากมีต้นทุนชีวิตที่ต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นเช่นกายอุปกรณ์ รถยนต์ส่วนตัว ผู้ช่วย ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นโดยไม่จำเป็น สุนทรียภาพในการใช้ชีวิตเรื่องที่เหมือนจะง่ายสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้พิการแล้ว บางครั้ง เป็นการจำยอมใช้ชีวิตให้มีความสุขกับสิ่งที่มี มีโอกาสน้อยมากที่ผู้พิการจะสามารถเข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของคนเอง ได้ทำงานที่รัก มีความภาคภูมิใจ ไปจนถึงสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นรอบตัว ด้วยทักษะความสามารถที่มี ศักยภาพที่หลากหลาย โดยมองข้าม “ความพิการ”
3.1 ผู้พิการมีความต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป เช่น คนตาบอดก็อยากดูหนัง อยากทำอะไรได้เหมือนที่คนทั่วไปทำ ได้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนที่คนทั่วไปทำ เช่น อยากเป็นคนที่วิ่งมาราธอนได้ อยากเล่นโยคะได้ แม้วันนี้เล่นได้ อาจจะไม่ถูกมากนักแต่ได้บรรยากาศการเล่นโยคะที่เค้าสามารถทำได้ การอ่านภาพ การเข้าถึงสื่อและกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ ยากกว่าคนอื่น เพลง หนัง โรงหนัง สถานที่สาธารณะต่างๆ กิจกรรมสันทนาการ ที่ผู้พิการสามารถเข้าร่วมได้ มีจำกัด หรือแทบไม่มีเลย
3.2 ภาพลักษณ์คนพิการ เมื่อทำสิ่งเดียวกับที่คนทั่วไปทำ เช่น กินเบียร์ สูบบุหรี่ มีแฟน มีลูก หลายครั้งถูกสังคมตั้งคำถาม หรือ ประนาม
ความท้าทายในประเด็นนี้เช่น : ทำอย่างไรให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสื่อ และกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ เช่น นิทรรศการ หนัง ความบันเทิง กิจกรรมสันทนาการต่างๆ กีฬา งานอีเว้นท์
Diversity
การที่คนพิการถูกแยกออกจากสังคม เพราะเข้าไม่ถึงสิ่งต่างๆ ที่จำเป็น ไม่สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทำให้เราต่างขาดประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกับคนพิการ ขาดความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของคนพิการ สิ่งนี้ส่วนหนึ่งมาจากของวงจรการผลิตซ้ำความเชื่อเกี่ยวกับคนพิการ เช่น
- บางศาสนาเชื่อว่าเกิดจากเวรกรรมชาติที่แล้ว ความพิการเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม บาปบุญ ไม่ได้มองว่า ความพิการบางทีเกิดตามธรรมชาติ เกิดจากอุบัติเหตุ ความไม่ตั้งใจ โรคภัยไข้เจ็บ เป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่เกิดจากคนอื่น
- มองการช่วยเหลือคนพิการเป็นเชิงสงเคราะห์ เป็นเครื่องมือสะเดาะเคราะห์ ทำแล้วได้บุญ ชาติหน้าจะได้ไม่เกิดมาพิการ ทำให้คนพิการจำนวนหนึ่งมีทัศนคติในแง่ลบต่อตนเอง ว่าฉันเกิดมามีกรรม ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ เพราะโชคชะตาลิขิตให้เป็นแบบนี้ ปล่อยไปตามเวรตามกรรม
- การถูกครอบครัวและสังคม บอกว่า เป็นภาระ จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรก็เป็นภาระ แต่เมื่อพยายามจะช่วยเหลือตัวเอง เดินทางไปข้างนอก ไปเรียนหนังสือ ทำงาน ก็ถูกมองว่าเป็นภาระอีก ทั้งที่หลายอย่าง คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อเราไม่เข้าใจความหลากหลายของความพิการ ผลกระทบที่ตามมา เช่น
- คนพิการไม่สามารถทำงานที่หลากหลายตรงกับศักยภาพเพราะเรายังไม่เข้าใจศักยภาพ และแนวทางในการปรับงานให้เหมาะสมกับความหลากหลายของความพิการ
- ความหลากหลายในแง่เพศสภาพ พบว่า คนพิการเพศผู้หญิงเข้าถึงโอกาสต่างๆ เช่น การศึกษา งาน น้อยกว่าเพศชาย เป็นการถูกเลือกปฏิบัติแบบทับซ้อน โดยยังขาดกฎหมาย นโยบาย หรือโครงการที่ออกแบบมาคุ้มครอง
- การไปโรงเรียน โดยเฉพาะเรียนร่วมของเด็กพิการ นอกจากเด็กต้องปรับตัวใช้ความพยายามในการเรียนมากกว่าคนอื่นแล้ว ยังต้องรับมือกับการบูลลี่ ความไม่เข้าใจของเพื่อน ครู และผู้ปกครองรอบๆ ตัว
- ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องที่มีความพิการ นายจ้างไม่มั่นใจว่าคนพิการจะสามารถทำงานได้ มีความกังวลในการบริหารลูกจ้างพิการ3 ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้ในที่ทำงาน คนพิการขาดสังคมในที่ทำงาน ไม่มีเพื่อน บางครั้งเป็นเหตุให้ลาออกจากงาน
- ความเชื่อในบางภูมิภาค เชื่อว่าถ้าจับอุปกรณ์ผู้พิการ หรือให้ขึ้นรถ จะมีโชคร้ายตามมา
- เมื่อคนพิการออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง หลายครั้งโดนสังคมมองว่าเรื่องมาก ช่างเรียกร้อง อยากได้สิทธิพิเศษ
- แม้ในกลุ่มของผู้พิการเองแต่ละกลุ่มก็มีความหลากหลาย และเป็นชุมชนที่มีลักษณะที่จำเพาะ ไม่ใช่ว่าเมื่อพิการแล้ว จะเข้าใจความพิการอื่นทั้งหมด ผู้พิการที่พิการภายหลังจะมีต้นทุนชีวิตที่สูงกว่าผู้พิการที่พิการมาแต่กำหนด เพราะมีทักษะทางสังคม ได้รับการศึกษา และมักเป็นกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้มากกว่า
ช่องว่าง และโอกาสในประเด็นนี้เช่น : มีคนพิการอีกจำนวนมากที่ต้องการการเสริมพลัง( empowerment) ให้เขาเชื่อมั่นว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระ มีความสุข และมีส่วนร่วมในสังคมเหมือนกับคนอื่น ๆ โดยไม่เป็นภาระ ไม่จำเป็นต้องสงเคราะห์ แต่การให้การช่วยเหลือตามสมควรเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
ทำอย่างไรสื่อจะมีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับ Disability awareness เพื่อระมัดระวังการสื่อสารประเด็นคนพิการให้เหมาะสม
สำหรับคนที่สนใจริเริ่มทำประเด็นนี้
เราสามารถมองการทำงานประเด็นผู้พิการด้วย Framework 3 ด้าน ได้แก่
Hardware-Software-Peopleware
ทั้ง 3 ด้านนี้เราควรทำควบคู่ไปด้วยกัน
ถ้าหากมี Hardware ที่ดี มีอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมใช้งาน แต่ Peopleware ใช้ไม่เป็น หนักกว่าคือไม่รู้ว่ามี หรือ ยังมีมุมมองหรือทัศนคติในเชิงลบ Hardware ก็ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น รถเมล์มีสะพานพาด แต่ใช้ไม่เป็น หรือจอดห่างจากฟุตบาท เรามีสถานประกอบการที่มีพื้นที่กายภาพเหมาะสมให้คนพิการเข้าไปทำงาน แต่ Software งานที่มีไม่เหมาะ รวมไปถึงคนในองค์กรยังไม่เข้าใจ หรือไม่มีความรู้เบื้องต้นในการอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลาย ผู้พิการก็ไม่สามารถทำงานได้จริง
หากเรามี Software แต่ไม่ได้เข้าอกเข้าใจคนใช้งาน หรือข้อจำกัดทางกายภาพต่างๆ มากเกินไป Software ก็ไม่สามารถใช้งานได้
“การนำเสนอเรื่องราวประเด็นหนึ่ง ๆ มักจะมีหลายมุมเสมอ บางครั้งเป็นการชี้ให้เห็นปัญหาในมุมที่ไม่ค่อยมีคนตระหนัก เราไม่สามารถไปแก้ไขอดีตหรือโทษใครได้ แต่เราหวังว่าเมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว หลังจากนี้คนที่เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ แล้วรู้สึก “เอ๊ะ” ตั้งคำถามกับมันบ้าง และเห็นว่าตัวเราเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงได้ ความพิการไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครอยากจะมี แต่ถ้ามีขึ้นแล้วไม่สามารถหลีกหนีได้ จำนวนผู้พิการ ผู้สูงอายุมีแต่จะเพิ่มขึ้น คุณอาจจะเจอใครสักคนที่เข้ามาในชีวิตของคุณ สิ่งสำคัญคือ เวลาที่ใครสักคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ มักจะถูกมองว่าเป็นกระบวนการเรียกร้อง แต่ลองมองอีกมุมว่าการที่มีใครสักคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้อย่างไม่หยุด เราควรจะ “เอ๊ะ” กับสิ่งนั้น
การที่เรามี empathy ต่อกันนั้น คือ sense ของความเป็นมนุษย์ในการอยู่ร่วมกัน ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองเป็นปัญหานี้เป็นเรื่องของการกุศล เราก็จะสามารถให้เท่าที่ให้ได้ แต่่ empathy คือการที่เรามองเขาเป็นมนุษย์คนนึงที่เท่ากัน”
– คุณกัชกร ทวีศรี ผู้อำนวยการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิโกลบอลแคมปัสเซส
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- การสำรวจความพิการ 2560 https://www.nso.go.th/sites/2014en/Survey/social/SocialSecurity/Disabilitysurvey/2017/Full_Report.pdf
- MUSEF Webinar Ep.8 https://www.facebook.com/musefconference/videos/690370785818387/
- การส่งเสริมสถานที่ทำงานให้มีสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อคนพิการในประเทศไทย
https://www.undp.org/thailand/publications/promoting-inclusive-workplace-persons-disabilities-thailand - การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมทางสังคม http://ebookservicepro.com/showcase/2022/DisabilitySupport/
- https://www.dep.go.th/th/homepage
- https://www.ops.go.th/th/data-store/archive-documents/100-other-doc/2451-2562
- สถานการณ์คนพิการ 30 กันยายน 2565 (รายไตรมาส) https://dep.go.th/images/uploads/files/situation_sep65.pdf