
ภาพจาก Hear & Found
Hear & Found เริ่มก่อตั้งขึ้นมาโดยเมและรักษ์ ตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันนี้ ระยะเวลา 5 ปี กับเส้นทางการทำความเข้าใจปัญหาสังคมในมิติที่ซับซ้อน
ในปีแรกเป็นปีแห่งการทำความเข้าใจว่าอะไรคือ ปัญหาที่แท้จริง ค้นหาข้อมูลเชิงลึก (Insights) และลองทดสอบ prototype กว่าเมและรักษ์จะเข้าใจปัญหา และเริ่มตั้งคำถามที่ถูกต้องได้นั้น ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนมุมมองเดิมที่มองปัญหาไปสู่มุมมองใหม่ โดยไม่ยึดติดกับวิธีการแก้ปัญหาที่คิดไว้ในตอนแรก
รักษ์กับเม เริ่มต้นจากความ “อิน” ในเรื่องดนตรีและวัฒนธรรมชนเผ่าโดยมีสมมติฐานว่า
“กลุ่มนักดนตรีท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน คนชนเผ่าเป็นกลุ่มที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรม และกำลังจะสูญหายไป เนื่องจากไม่มีการเก็บบันทึก และไม่มีคนฟัง ทำให้นักดนตรีต้องเลิกอาชีพนี้ ไปทำอย่างอื่นแทน เพราะว่าไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้” และอยากเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ แต่โดนคนรอบตัวตั้งคำถามรัว ๆ ว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาอย่างไร ถ้าดนตรีชนเผ่าหายไป จะมีใครเดือดร้อนกับปัญหานี้บ้าง ?
ทั้งสองคนเริ่มต้นด้วยการสำรวจปัญหาเพิ่มเติม ไปสัมภาษณ์นักดนตรีท้องถิ่นมากกว่า 30 คน (Primary Research) และค้นพบ Insight แรก ว่า ต้นเหตุของการสูญหาย ส่วนหนึ่งคือวัฒนธรรมการเรียนการสอน ที่ไม่ได้มีการจดบันทึก ไม่มีตัวโน้ต ไม่เหมือนดนตรีสากล การเรียนการสอน ส่งต่อจึงเป็นไปได้น้อยและยากสำหรับคนรุ่นใหม่ ประกอบกับโลกที่เปลี่ยนไป คนฟังดนตรีสากล ดนตรีป๊อปมากขึ้น และวัฒนธรรมการฟังเพลงเป็นการฟังเพลงป๊อปมากกว่าเพลงท้องถิ่น นักดนตรีท้องถิ่น จึงไม่มีอาชีพที่มั่นคง จึงล้มเลิกแล้วไปทำนากุ้ง หรือทำอย่างอื่นแทน ดังนั้นประเด็นปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาสังคมในเชิงอาชีพที่สันนิษฐานไว้ในตอนแรก เพราะหากล้มเลิกอาชีพดนตรี คนก็ยังสามารถสร้างรายได้จากอาชีพอื่นได้

ภาพจาก Hear & Found
นอกจากนี้งานรีเสิร์ชของ UNESCO (Secondary Research) ย้ำว่า การสูญหายทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากโลกาภิวัฒน์ การท่องเที่ยวทำให้รูปแบบ (form) ของการละเล่น การแสดง ถูกจัดทำขึ้นเพื่อความบันเทิงผู้ชม นักท่องเที่ยวจากภายนอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานประเพณีบิดเบือน เกิดการกลายร่างของวัฒนธรรม ทำให้ความดั้งเดิมหายไป นอกจากนี้ยังทำให้คนเข้าใจผิดถึงวิถีชีวิต เพราะดูจากความสวยงามและความบันเทิงเป็นหลัก
เมและรักษ์ได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง (Why me) ว่าจริง ๆ แล้วเราสนใจเรื่องอะไรกันแน่ ทำไมจึงต้องเป็นเราที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ ทำไมจึงเชื่อเรื่องของคนกับวัฒนธรรม และทำไมจึงเชื่อว่าเราจะทำอะไรได้ในที่สุดจึงพบว่าทั้งสองคนเห็นภาพของ Hear & Found เป็นพื้นที่ในการสื่อสาร ช่วยสืบสานวัฒนธรรม เพราะ passion คือไม่อยากเห็นความสวยงามเหล่านี้หายไป รู้สึกเสียดาย เพราะมีความผูกพันกับสิ่งเหล่านี้
เมื่อชัดเจนกับ Why ของตัวเองแล้ว Hear & Found ได้กลับไปค้นหาข้อมูล (Secondary Research) เกี่ยวกับตัวชี้วัดทางวัฒนธรรม จนพบว่า วัฒนธรรมจะถูกวัดว่าหายไปก็ต่อเมื่อภาษาหายไป เมื่อเข้าใจแบบนั้นแล้ว ทั้งสองคนไปสืบค้นดูว่า ในประเทศไทยมีภาษาที่หายไปจริงหรือไม่ พบว่ามีมหาวิทยาลัยที่ทำเรื่องการรักษาภาษาอยู่ ซึ่งเมและรักษ์เองไม่ได้มีความถนัดเรื่องนั้น จึงหาข้อมูลต่อไปจนพบกับบทสัมภาษณ์ของชิ สุวิชานจากหนังสือ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต” เขียนไว้ว่า ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสาร ประโยคนี้ทำให้ทั้งคู่ตั้งคำถามต่อว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หลังจากนั้นจึงได้สัมภาษณ์ และไปงานชาติพันธุ์ 4.0 เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาว่าที่จริงแล้ว คนชนเผ่าพื้นเมืองถูกเข้าใจผิดเรื่องอะไร ที่มาของประเด็นนี้คืออะไร ใครได้รับผลกระทบ และได้รับผลกระทบอย่างไร

Insight ต่อมาที่พบ คือ คนชนเผ่าพื้นเมืองมักถูกเข้าใจผิด จากสื่อ ทำให้เป็นเหยื่อของสังคม ที่โดนข้อครหาว่าเป็นคนเผาป่า ค้ายาเสพติด เนื่องจากสื่อหรือข่าวมักจะสื่อสารว่าชาวเขาค้ายาเสพติด มากกว่าการสื่อว่า นาย A ค้ายาและถูกวิสามัญ เป็นต้น จากการพูดคุยครั้งนั้น ทำให้เมและรักษ์พบว่า สิ่งที่ตั้งสมมติฐานไว้มีความชัดเจนขึ้น เข้าใจถึงผลกระทบที่คนชนเผ่าพื้นเมืองได้รับ เพราะเมื่อกลับมาสะท้อนถึงภาพที่เห็นตามข่าวหนังสือพิมพ์ เมและรักษ์ก็ถามตัวเองเช่นกันว่า “ทำไมเวลาเราเห็นพี่ ๆ ชนเผ่าบนหนังสือพิมพ์ หรือสื่อที่เค้าถือป้ายไปประท้วง ลึก ๆ เราก็มีความคิดว่า กลุ่มคนเหล่านี้น่าสงสาร ชอบออกมาเรียกร้อง” การตั้งคำถามนี้ในหัวผุดขึ้นมาทุกครั้งที่เห็นภาพ ซึ่งเป็นไปในเชิงลบทั้งหมด
ทั้งสองคนรู้สึกว่าเรื่องราวมักจะถูกสื่อสารแค่ฝั่งเดียว ทำให้คนชนเผ่าพื้นเมืองถูกเข้าใจผิด รู้สึกว่าคนชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ได้รับความยุติธรรม และคิดว่าการได้พูดถึงหรือสื่อสารจากอีกฝั่งหนึ่งของเรื่องราวเป็นเรื่องจำเป็น
เมื่อเริ่มเห็นภาพของปัญหาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งสองคนอยากจะขุดลึกขึ้น ไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง นั่นคือการไปเห็นไร่หมุนเวียนของจริง (ที่เป็นที่มาของภาพจำว่า ชาวเขาเผาป่า) ด้วยการลงพื้นที่ไปอยู่บ้านของพี่ชาวปกาเกอะญอ 3 วัน ไปกิน นอน เดินเล่นในหมู่บ้าน คุยกับชาวบ้าน (ในขั้นตอนนี้เป็นการกลับมาทำ Primary Research อีกครั้ง)
ในช่วงนี้ ทั้งสองคนไปอยู่บ้านพี่ดิปุ๊นุ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอ ที่จ.ลำพูน ได้ฟังทุกเพลงที่พี่ดิปุ๊นุเล่น และแต่ละเพลงก็มีเรื่องราวที่คนชนเผ่าพื้นเมืองพบเจอ เช่น ไม่ยอมบอกว่าตัวเองเป็นคนชนเผ่า แต่บอกว่าเป็นคนจังหวัดไหนแทน พยายามพูดภาษาไทย หรือเพลงกะเหรี่ยงรักสันติภาพ ที่เล่าเรื่องของการไม่ได้รับความยุติธรรม โดนเผาบ้าน เอาเปรียบต่าง ๆ นานา ซึ่งยิ่งทำให้ทั้งคู่ตั้งคำถามว่า พวกเขาเจออะไรมา เพลงจึงได้มีเรื่องราวแบบนี้ เพราะการจะแต่งเพลงได้ ต้องหยิบจับสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้สึก เรื่องใกล้ตัวมาใส่ทำนอง

ไร่หมุนเวียน บ้านป่าแป๋ จ.ลำพูน ภาพจาก Hear & Found
สำคัญที่สุดคือไปไร่หมุนเวียน ภาพของไร่หมุนเวียนคือภาพแห่งปัญหาที่ถูกสื่อออกไปคือการเผาป่า ต้นไม้ดำเป็นตอตะโก แต่ภาพที่ทั้งเมและรักษ์เห็นคือ ทุ่งหญ้าสีเหลืองพร้อมเก็บเกี่ยว บริเวณใกล้เคียงคือป่าไม้สมบูรณ์ทั้งหมด ภาพธรรมชาติที่สวยขนาดนี้กลับไปเคยถูกสื่อสารออกไป มากไปกว่านั้น การไปอยู่ในพื้นที่ คือการทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความเชื่อและบริบท ทำให้เห็นกระบวนการของการทำไร่หมุนเวียนว่า ภาพที่เผาป่านั้นเป็นการเลือกพื้นดินส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตทางความเชื่อก่อนด้วย เมื่อเลือกได้แล้วจึงทำการหว่านไถ เผา เพื่อสร้างพื้นที่ในการปลูกข้าว พืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดคือข้าวเหล่านี้ใช้กินในหมู่บ้านตลอดปี เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จจะทำการปล่อยป่าให้เติบโต 7 ปี โดยในระหว่างนั้นจะมีพิธีกรรมดูแลพื้นที่เป็นระยะ ฉะนั้นการเข้าไปในพื้นที่ คือการไปทำความเข้าใจ สร้างความเห็นใจ สร้างมิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถทำงานต่อได้อย่างมีเป้าหมาย
เมื่อเข้าไปอยู่ในปัญหากับเขา พยายามทำความเข้าใจว่าภาพที่เราเห็นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำให้เริ่มเปลี่ยนมุมมองจากการมองของคนนอกที่คอยตัดสิน เป็นมุมมองใหม่ว่าตอนนี้เขาประสบปัญหาอะไรอยู่ จึงทำให้ออกมาเรียกร้อง เปลี่ยนจากการตัดสินเป็นพยายามทำความเข้าใจแทน
ณ จุดนี้ Hear & Found Scope ปัญหาที่ต้องการแก้ไข คือ ความเข้าใจผิดของคนทั่วไปที่มีต่อคนชาติพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกัน จึงอยากจะใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการลดความขัดแย้ง
ในช่วงระยะเวลา 5 ปี Hear & Found ยังคงไม่หยุดที่จะทำความเข้าใจภาพปัญหาจากแง่มุมต่าง ๆ เหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่คอยมาประกอบกัน ทำให้ได้พบความสำคัญของปัญหานี้มากกว่าที่คาดไว้ โดยมีเส้นทางในการทำความเข้าใจปัญหาจาก ปัญหาระดับชุมชน > ระดับประเทศ > ระดับภูมิภาคในอาเซียน > ระดับโลก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ลงพื้นที่ไปชนเผ่าอื่น ๆ เช่น ไทยทรงดำ ที่จ.ราชบุรี พบว่าเป็นชนเผ่าที่ไม่ได้ถูกเข้าใจผิดหรือได้รับผลกระทบจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่มีปัญหาที่เจอหรือความต้องการคือ ไม่อยากให้วัฒนธรรมของตัวเองสูญหาย
ชนเผ่ากะเหรี่ยงโป ที่จ. สุพรรณบุรี พบว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากการโดนไล่พื้นที่ทำกิน หรือการทำไร่หมุนเวียน จากการเวียน 7 ปี ตอนนี้เหลือเพียง 3 ปี เพราะพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ ทว่าเป็นชุมชนที่มีการร่วมมือกับภาครัฐได้ดี โดยมีการพูดคุยกันทุกปีว่าส่วนไหนที่สามารถทำกินได้ แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ทางชุมชนเคยถูกไล่ที่ดินทำกินจากฝั่งเอกชน โดยถูกหลอกว่าจะปลูกป่า ขอให้ย้ายบ้าน กลับกลายเป็นมีรถไถมาโค่นบ้าน โค่นต้นไม้ ไล่พื้นที่ ซึ่งทำให้มีคนล้ม เจ็บ และตายจากเหตุการณ์นี้ นอกจากนั้นยังมีคนที่ล้มตายทางจิตวิญญาณ (การรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรงในเรื่องที่ตนเองไม่ได้ทำผิด นำไปสู่การสูญเสียอำนาจในตัวตนและเกิดความรู้สึกไม่อยากใช้ชีวิตต่อ) ด้วยเช่นกัน และพื้นที่ส่วนนั้นทาง เอกชนได้นำไปใช้ปลูกป่าสักเพื่อทำการค้าขาย
นอกจากนี้ น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ที่หมู่บ้านนี้บอกอีกด้วยว่า เวลาเขาออกไปทำงานในเมือง เขาจะบอกว่าเป็นคนสุพรรณ ไม่บอกว่าเป็นคนกะเหรี่ยงโป ซึ่งเมื่อถามว่าเพราะอะไร ได้คำตอบว่า “ไม่รู้จะบอกทำไม เพราะไม่มีใครรู้จักอยู่ดี” ข้อความด้านบน แสดงให้เห็นถึงความไม่ภาคภูมิใจในบ้านของตัวเอง รวมทั้งการที่สังคมไทยไม่ได้ปลูกฝังว่าประเทศไทยมีความหลากหลายอย่างไร ทำให้พวกเขารู้สึกว่าบอกว่าเป็นคนจังหวัดอะไร ง่ายกว่าการบอกว่าตัวเองเป็นใคร
ชนเผ่าอาข่า ที่จ.เชียงราย โดนคนล้อเลียนด้วยการพูดเหน่อใส่ หรือบทเพลง มิดะ ของจรัล มโนเพ็ชร ที่สร้างภาพจำว่าหญิงสาวชนเผ่าอาข่า จะเป็นหญิงไม่รักนวลสงวนตัว ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงดังและทำให้เกิดภาพเสียหายกับคนชนเผ่านี้
หรือในมุมของคนท้องถิ่น อย่างคนอีสาน ก็พบว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกดูถูกดูแคลนด้วยสื่อเช่นเดียวกัน
ครูสุรินทร์ ภาคสิริ นักจัดรายการวิทยุเว่าลาว คนแรกของประเทศไทย เล่าว่า แต่ก่อนคนจะด่าและดูถูกคนอีสานว่า เป็น “บักเสี่ยว กินข้าวเหนียวไม่ล้างมือ” หรือการได้เรียนสูง ทำงานราชการ จะได้รับการยอมรับมากกว่าการเป็นชาวนา แต่อีสานก็เป็นพื้นที่ที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้งข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด ส้มตำที่เด็ดที่สุด เพลงหมอลำที่ดังไปทั่วโลก หรือเทศกาลผีตาโขน ที่สุดท้ายกลายเป็นเทศกาลทำเงินระดับประเทศที่นักท่องเที่ยวจะต้องมา แต่คนอีสานกลับถูกดูถูกทั้งจากคนภายนอก และคนกันเอง
จากจุดนี้ ทำให้ทางทีมเริ่มมีการบันทึกข้อมูลของกลุ่มคนชนเผ่า คนท้องถิ่นแต่ละบ้าน โดยแยกเป็น ความเข้มข้นทางความขัดแย้ง ประเด็นที่เกิดขึ้น และวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของแต่ละบ้าน เพื่อทำให้ทีมทำงานอย่างเข้าใจบริบทและความคาดหวังของพี่ ๆ ชนเผ่ามากขึ้น
2. คุยกับพี่ลี-อายุ จือปา (ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟอาข่า อ่ามา) ซึ่งเล่าว่า สมัยก่อนกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมือง ไม่จำเป็นต้องมีงาน สร้างอาชีพ จนรัฐเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ว่า คนชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องมีอาชีพ มีการส่งลูกไปโรงเรียน จึงทำให้เขาต้องดิ้นรนในการสร้างรายได้ จากที่แต่เดิมสามารถอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องสร้างรายได้ ก็อยู่ได้จากการอยู่ในป่า เมื่อต้องสร้างรายได้ ทำให้วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ต้องดิ้นรน การส่งลูกเข้าเรียนได้ ลูกหาเลี้ยงชีพได้ กลายเป็นความสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนชนเผ่าต้องย้ายออกจากบ้านมาทำงานเมื่อถึงวัยหนึ่ง แต่เมื่อย้ายออกแล้ว กลับเจอการถูกรังเกียจจากสังคม ทำให้ไม่อยากบอกว่าตัวเองมาจากที่ไหน เป็นใคร รากเหง้าคือใคร กลายเป็นจุดที่ผันตัวเอง ไม่พูดภาษาเดิม ไม่กลับบ้าน หรือหนึ่งปีจะกลับเพียงแค่ครั้งสองครั้ง ซึ่งก็มีหลายคนที่กลับบ้าน แล้วเจอว่าตัวเองไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเดิม วัฒนธรรมเดิมของตนเองได้ ก็จะกลายเป็นอีกกลุ่มคนชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในความเทา ซึ่งส่วนมากจะไปรับจ้างเป็นคนขายปลาหมึกย่างแถวไนท์บาร์ซาร์เชียงใหม่ หรือไปเป็นเด็กปั๊ม
3. สัมภาษณ์พี่ที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเป็นองค์การในประเทศไทยที่ทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาเล่าว่า น้อง ชนเผ่าใส่ชุดชนเผ่าไปโรงเรียน แล้วโดนเพื่อนแกล้ง เพราะว่าเป็นคนชนเผ่า ซึ่งหากไม่มีการสร้างความเข้าใจ สถานการณ์ที่เด็กชนเผ่าไปโรงเรียนแล้วถูกกลั่นแกล้งก็ยังมีอยู่ และจะฝังรากลึกให้กับคนรุ่นใหม่ ยิ่งทำให้ไม่อยากเป็นคนชนเผ่า
4. ในระดับภูมิภาค ข้อมูลนี้ได้จากการทำงานร่วมกับ UNDP โดยในงานได้มีการชวนผู้ประกอบการชนเผ่าในอาเซียนมาเข้าอบรม ซึ่งทำให้เข้าใจว่า ปัญหาการถูกไล่ที่ ปัญหาเรื่องการถูกเอาเปรียบทางสิทธิมนุษยชน การถูกเข้าใจผิด มองเป็นอื่น หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นปัญหาร่วมที่คนชนเผ่ามีร่วมกัน แม้จะอยู่คนละประเทศ ใช้คนละภาษาก็ตาม
5. ในระดับโลก จากการร่วมงานกับเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ในประเทศอื่น และการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทำให้เข้าใจว่านอกจากประเทศไทยและในแถบอาเซียนแล้ว กลุ่มคนชนเผ่าทั่วโลกมีมากกว่า 476.6 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 5,000 กลุ่ม และพูดภาษาต่าง ๆ มากกว่า 4,000 ภาษา นี่คือความแตกต่างที่โลกเรามีร่วมกัน แต่ทว่ากลุ่มชนเผ่าในประเทศอื่นก็ประสบปัญหาจากการถูกริดรอนสิทธิ การไม่มีตัวตน หรือการถูกกีดกัน (discrimination) ผลกระทบคือการสูญเสียวัฒนธรรมและความสวยงามที่แต่ละประเทศมี โดยพิสูจน์ได้จากองค์กรทั่วโลกที่ทำงานด้านนี้ ยกตัวอย่างเช่น UN, UNESCO, Cultural Survival หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมด้านนี้ เป็นต้น
การค้นพบเหล่านี้ เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อการให้คุณค่าทางความแตกต่างและความเท่าเทียมของกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้ Hear & Found เองเข้าใจว่าปัญหาที่ตัวเองสนใจอยู่นั้น ไม่ได้มีแค่ในประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งสิ่งนี้บอกทั้งระดับความใหญ่ของปัญหา โอกาส และอุปสรรคต่าง ๆ การเข้าใจจนสุดทางทำให้รู้ตัวว่าเราเดินอยู่บนเส้นทางแบบไหน ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่หรือเล็กอย่างไร เป็นปัญหาที่มีความสำคัญจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นความสงสัยใคร่รู้ของตัวเองที่รู้สึกว่ายังรู้ไม่พอหรือไม่แน่ใจว่าปัญหานี้มันจริงขนาดไหน เพราะเราไม่ใช่คนชนเผ่าพื้นเมืองเอง ดังนั้นการเดินทางที่พิสูจน์หรือทำความเข้าใจในหลากหลายมุม ทำให้เรารู้จักปัญหารอบด้าน หากเราเข้าใจ และเข้าถึงปัญหาได้จริง เราจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเข้าใจและเคารพกลุ่มคนเหล่านี้
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- คำว่า “ปัญหาสังคม” ในตอนแรกการระบุของเรายังไม่ชัด คือ ไม่เคยถูกสอนว่าปัญหาสังคมแปลว่าอะไร หรืออะไรที่เข้าเกณฑ์การเป็นปัญหาสังคมบ้าง เพราะส่วนตัวแล้วการสูญหายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมหายไป เราก็มองว่าเป็นปัญหา ซึ่งกระบวนการทำความเข้าใจ ใช้เวลาค่อนข้างมาก
- การจะเข้าใจปัญหาได้ อาจจะต้องทำความเข้าใจกับตัวเองด้วยเช่นกัน ว่าทำไมเราถึงมี passion เรื่องนี้ ทำไมถึงไม่ปล่อยผ่าน เพราะหากเข้าใจแล้ว สิ่งนี้จะช่วยทำให้เรายึดอยู่กับเรื่องนี้ได้ เหมือนตามหา why ของเราเจอ มีเป้าหมาย ภาพที่เราอยากเห็นชัด ๆ
- การค้นคว้าหาข้อมูล การคิดสมมติฐานว่าใช่แบบที่เราคิดหรือไม่ และต้องหาทางพิสูจน์ ไม่ว่าจะวิธีการสัมภาษณ์ พูดคุย หาข้อมูล เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้งานเดินหน้า การระบุที่ชัดเจนทำให้ปัญหาที่เราคิดว่าต้องการจะแก้ไข ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน
- การระบุปัญหาในช่วงแรก เราจะใช้คำว่า สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคำที่คนทั่วไปเข้าใจยาก การสื่อสารให้คนอื่นฟังบ่อยครั้ง แม้จะเจอคำถามมากมาย แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลับมา ปรับให้เข้าใจง่าย จนเราปรับมาใช้คำว่าการแบ่งแยก (Discrimination)
- การตรวจสอบความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสังคม ผลกระทบ ความสำคัญของปัญหา ไม่ได้เป็นเพียงการหาคำตอบในสโคปพื้นที่หรือในประเทศ แต่เราสามารถค้นหาข้อมูลนี้ไปเรื่อย ๆ เราพบว่ายิ่งเราค้นหา เราก็ยิ่งเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญ และเป็นคุณค่าที่กลับมาตอบว่าทำไม Hear & Found ควรจะมีอยู่ มีอยู่ไปเพื่ออะไร
- การหาข้อมูล หรือจำนวนคนชาติพันธุ์ เป็นเรื่องยากมาก เช่น คนชาติพันธุ์ทั่วโลกมีอยู่จำนวนกี่คน มีกี่ชนเผ่า กลุ่มที่มีข้อมูลเหล่านี้คือ UN และ Cultural Survival ซึ่งเป็นองค์กรต่างประเทศ
- สำหรับเมเอง เริ่มต้นแนวคิดการทำ Hear & Found ด้วยการเห็นช่องว่างทางตลาด และมองว่าปัญหาสังคมคือการสูญหายทางวัฒนธรรม และเราจะทำกิจกรรมอะไร เพื่อมาตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝั่ง จึงไม่ลึกกับการหาคำตอบในเชิงปัญหาสังคม แต่จะเน้นการคิดโมเดล ช่องทางการทำธุรกิจ ตลาดเป็นใคร เป็นแบบไหน และเราทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างรายได้ ในช่วงแรกจึงหลงไปกับการมองฝั่งธุรกิจมากกว่าการมองหาปัญหาสังคม แต่การได้ทำ TOC ในตอนที่เข้าโปรแกรม Incubation ของ School of Changemakers ทำให้ได้กลับมาคิดว่า เราต้องการแก้ปัญหาอะไร และภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นเป็นอย่างไร และลงลึกกับการมองปัญหาสังคมมากขึ้น
ใครที่อ่านมาถึงตอนนี้ อาจจะลองกลับไปตั้งคำถามกับงานที่ตัวเองทำอยู่ว่า จริง ๆ แล้ว เรากำลังแก้ไขปัญหาอะไรอยู่ ปัญหานั้นเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้าง รวมถึงลองกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองดูว่า เพราะอะไร เราจึงอยากแก้ไขปัญหานี้ มีคุณค่าอะไรที่เรายึดถือ ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นคืออะไร เพื่อที่จะได้ชัดเจนในขั้นตอนต่อไป แต่ทั้งนี้ ทุกปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหา อาจจะเป็นเพียงมุมมอง หรือ สมมติฐานของเราเอง
“สมมติฐานของเราที่คิดไว้เกี่ยวกับปัญหา ควรได้รับการพิสูจน์ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหา และผลกระทบของปัญหา เรามักจะคิดว่า เราจะทำอะไร มากกว่าเราทำไปเพราะอะไร หรือ เราต้องการอะไร ทำให้เราเสียเวลาและพลังไปกับการทำงานที่ไม่รู้ว่าทำอะไรแล้วดี ไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ เป็นช่วงที่สับสนกับตัวเองค่อนข้างมาก ด้วยความอยากลงมือทำ มากกว่าตั้งคำถามที่ถูกต้องกับตัวเองและปัญหา”
เม-Hear & Found

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Hear & Found ในการนำ Insights ไปใช้ในแง่มุมต่างๆ ได้ ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Hear & Found : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งรูปแบบห้องสมุดเสียงและดนตรีออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึง เรียนรู้ และนำไปใช้งานได้ง่ายมากขึ้น
https://www.facebook.com/hearandfound
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
