Theory of Change คืออะไร อ่านได้ที่นี่
ตัวอย่างการพัฒนา Theory of Change จาก Insights Review Session ของ Hear & Found ธุรกิจเพื่อสังคมที่พยายามแก้ไขปัญหาการสูญเสียวัฒนธรรมท้องถิ่น ความรู้และภูมิปัญญา โดยการสร้างการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งรูปแบบห้องสมุดเสียงและดนตรีออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึง เรียนรู้ และนำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น
อุปกรณ์
- เครื่องมือ Theory of Change ขั้นต้น (สำหรับโครงการเล็กๆ ไม่ซ้ำซ้อน เด็กนักเรียน นักศึกษา) / ขั้นแอดวานซ์ (สำหรับโครงการใหญ่ ซับซ้อน มีกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า ที่ต่างกัน)
- ปากกา ดินสอ สี
- โพสอิท
ขั้นตอนการเขียน Theory of Change
1. สถานการณ์ปัจจุบัน
1.1 Situation สถานการณ์/ปัญหา/ความท้าทาย
อธิบายสถานการณ์ปัญหาที่เราสนใจอยากแก้ไข โดยใช้คำถามด้านล่างช่วยในการกรอกข้อมูล
- สถานการณ์/ปัญหา/ความท้าทายที่เราสนใจเป็นปัญหาสังคมอย่างไร (ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมหรือไม่)
- ทำไมปัญหานี้จึงสำคัญ (ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหานี้ จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 1-3-5 ปีข้างหน้า หรือถ้าปัญหานี้ได้รับการแก้ไข จะส่งผลดีกับใคร อย่างไรบ้าง)
- ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน (ใน 1 เดือน หรือ 1 ปี มีปัญหานี้เกิดขึนกี่ครั้ง)
- ปัญหานี้ส่งผลกระทบกับใครและอย่างไรบ้าง (มีใครบ้างที่เดือดร้อนจากสถานการณ์นี้
- ผลกระทบของปัญหานี้รุนแรงมากน้อยเพียงใด
สถานการณ์ : คนชนเผ่าพื้นเมืองถูกมองเป็นอื่น ไม่ได้รับการยอมรับ โดยเกิดขึ้นจากสื่อหลักที่ให้ข้อมูลแค่ข้างเดียว ส่งผลให้คนชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ต้องการเป็นตัวเอง ซึ่งส่งผลให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศไทยน้อยลง เกิดการสูญหายทางวัฒธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรม และเห็นเป็นพฤติกรรมชัดเจน เช่น คนชนเผ่าพื้นเมืองพูดภาษาแม่น้อยลง แต่งการแบบตนเองน้อยลง

คำถามทบทวน (สำหรับผู้ทำโครงการและโค้ช)
- เราได้ทำความเข้าใจประเด็นปัญหา ความท้าทายที่เราสนใจ แล้วหรือยัง?
ถ้ายังควรจะค้นหาข้อมูล พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อให้เราเข้าใจสถานการณ์ปัญหามีความชัดเจน เห็นความรุนแรง สถานการณ์ สาเหตุ ผลกระทบของปัญหา - ไม่ควร เลือกประเด็นกว้างจนเกินไป เช่น ปัญหาการศึกษาในประเทศไทย ปัญหาขยะในโลก เป็นต้น
- ควรระบุสาเหตุหรือผลกระทบของปัญหาให้ชัดเจน อาจได้มาจากจากการค้นคว้าข้อมูลหรือสัมภาษณ์จากกลุ่มเป้าหมาย
1.2 Insights ข้อมูลเชิงลึก
เขียนอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวสถานการณ์ปัญหาด้วย ข้อมูลเชิงลึก ที่เราได้จากการทำงานที่ผ่านมาหรือจากการไปทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง หรือโอกาส ช่องว่าง ที่ยังไม่เคยมีใครรู้มาก่อน เราและคนอื่น จะไม่รู้สิ่งนี้เลย ถ้าไม่ลงมือทำหรือไม่อยู่ในแวดวงนี้ (อ่านความหมายของ Insights เพิ่มเติม)
แนวทางคำถามสำหรับ Insights
- ข้อมูลอะไรบ้างได้จากการทำงานหรือทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา ที่ทำให้เรารู้สึก “ประหลาดใจ”
- ช่องว่างหรือโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่มีใครรู้มาก่อน หากไม่ได้ทำงานด้านนี้ (มีแต่เราเท่านั้นที่รู้) มีอะไรบ้าง
- ข้อมูลอะไรบ้างที่ทำให้เราเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหา
- ข้อมูลอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกเข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
แม้ว่าเราจะมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่เราได้ไปทำความเข้าใจ แต่ไม่ใช่ทุกข้อมูลที่จะเป็น Insights
สิ่งที่บอกว่าข้อมูลนั้นไม่ใช่ Insights คือ
- ข้อมูลทั่วไปที่อธิบายปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรอบแนวคิด (แค่ค้นหาก็สามารถเจอข้อมูลนี้ได้อย่างง่ายดาย)
- ข้อมูลที่ไม่ทำให้เราเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมมากขึ้น หรือรู้สึกเข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะไปช่วยแก้ไขปัญหาในมุมมองใหม่ๆ อาจไม่ใช่ Insights
ตัวอย่าง Insights จาก Hear & Found เช่น
- คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในเมืองและลืมรากทางวัฒนธรรมของตนเอง รวมถึงไม่ภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง เช่น คนชนเผ่าพื้นเมืองพูดภาษาแม่น้อยลง แต่งการแบบตนเองน้อยลง ไม่กล้าแสดงตัวหรือบอกคนอื่นว่าตนเองมาจากไหน เป็นใคร ชาติพันธุ์อะไร
- เรื่องราว วิถีชีวิต คำสอน ของวัฒนธรรมถูกบันทึกอยู่ในบทเพลง รวมถึงเพลงสามารถบ่งบอกบริบทต่างๆ ได้ ซึ่งเนื้อหาส่วนมากจะบอกเล่าการอยู่แบบพึ่งพาอาศัย เคารพธรรมชาติ (ต่างจากสิ่งที่เราเคยเรียนมาว่า ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย)
- นอกเหนือจากการทำให้ภาครัฐหรือกฎหมายยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว การทำให้กลุ่มคนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมที่แตกต่าง หลากหลาย เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นพื้นฐานที่ดีที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่ยอมรับต่อไป
- การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม มีเรื่องของความเป็นชาตินิยม เช่น การบังคับให้เรียนภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในโรงเรียน เด็กชาติพันธุ์ไม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง หรือถูกกลืนหายผ่านระบบทุนนิยม
คำถามทบทวน (สำหรับผู้ทำโครงการและโค้ช)
- ข้อมูลสถานการณ์ปัญหา และข้อมูลเชิงลึกที่ระบุใน TOC มาจากการทำความเข้าใจปัญหาและกลุ่มเป้าหมายมาก่อนใช่หรือไม่
- ข้อมูลเชิงลึกทำให้เราเห็นรูปแบบของพฤติกรรม เข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และเป็นข้อมูลที่ถ้าไม่ใช่คนทำงานจะไม่รู้ ใช่หรือไม่
2. กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ อาจจะแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ
2.1 ผู้ได้รับผลประโยชน์ Beneficiaries
คนที่เราอยากไปช่วยแก้ไขปัญหา เขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน กลุ่มเป้าหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัญหานี้คือใคร หรือ ใครคือคนที่เราอยากช่วยแก้ไขปัญหา มีใครเป็นกลุ่มเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเราทำโครงการนี้
ตัวอย่างผู้ได้รับผลประโยชน์ของ Hear & Found เช่น กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง/กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่ Hear & Found อยากเข้าไปช่วยในเรื่องที่เขาถูกมองเป็นอื่น ไม่ได้รับการยอมรับ ส่งผลให้วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่สูญหายไป
2.2 ลูกค้า Customers
คนที่ซื้อสินค้า บริการ จ่ายเงินให้เรา แลกกับคุณค่า หรือมูลค่าบางอย่างที่ได้จากเรา ใครเป็นคนให้ทุน หรือจ่ายเงินให้เราทำโปรเจกต์นี้
ตัวอย่างลูกค้าของ Hear & Found เช่น
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนวัยกลางคน ที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย สนใจดนตรี สนใจว่าประเทศไทยมีอะไรอีกบ้างที่ตัวเองยังไม่รู้
- องค์กรที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ ที่ต้องการสื่อสารเรื่องความเท่าเทียม ความยั่งยืน

คำถามทบทวน (สำหรับผู้ทำโครงการและโค้ช)
- กลุ่มเป้าหมายที่เราอยากช่วยแก้ไขปัญหาเป็นกลุ่มคนที่เราสามารถเข้าถึง ใกล้ชิด มีโอกาสเข้าไปทำความเข้าใจเขาได้หรือไม่
- เราเคยสัมภาษณ์ สอบถาม หรือพูดคุย กับกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับปัญหาที่เราอยากช่วยเขาแก้ไขแล้วหรือไม่
- กลุ่มเป้าหมายคิดว่าปัญหานี้เป็นความเดือดร้อนของเขาจริง ๆ ใช่หรือไม่
3. ภาพในอนาคตที่เราอยากเห็น
3.1 Vision ภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น
เมื่อเราระบุทั้งสถานการณ์ปัญหาและกลุ่มเป้าหมายแล้ว ให้ระบุภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นในอนาคตระยะยาว อีก 10-20 ปี เป็นต้น
โดยเราอาจจะมองภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นของสังคมในภาพกว้างรวม ๆ หรือ แบ่งตามภาพที่เราอยากเห็นของ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ได้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) และกลุ่มลูกค้า (Customers) ก็ได้ เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากเห็นคนที่เราอยากช่วยแก้ไขปัญหาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เราอยากเห็นคนที่เป็นลูกค้าเรามีชีวิตที่ดีขึ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างจากการซื้อสินค้าหรือบริการของเรา

ตัวอย่างภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นระยะยาวของ Hear & Found เช่น
ผู้ได้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries)
1. ภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง รู้ว่าตัวเองก็สามารถที่จะเป็นตัวเองได้
2. สามารถมีโอกาสในการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของตัวเองมาสร้างรายได้ได้ด้วย
3. วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกยืดอายุได้นานขึ้น
กลุ่มลูกค้า (Customers)
1. คนทั่วๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2. ทำให้สังคมมีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม สามารถอยู่ร่วมกันในความแตกต่างได้
3. ลดความขัดแย้งทางความคิด
3.2 S.M.A.R.T Goals เป้าหมายที่เราอยากเห็น
เป้าหมายแบบ S.M.A.R.T Goals ระยะสั้น-กลาง 1-3-5 ปี เพื่อไปถึงภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นระยะยาว
S = Specific เฉพาะเจาะจง เป็นรูปธรรม
M = Measurable วัดผลได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
A = Attainable สามารถทำได้จริง
R = Relevant สอดคล้องกับภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น
T = Timely ระยะเวลาเป็นไปได้จริง
ตัวอย่าง เช่น
เป้าหมาย 1 ปี ของ Hear & Found
กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง
– ศิลปินที่เราทำงานด้วยได้รับรายได้ไม่ต่ำกว่า xxx บาทต่อปี
กลุ่มสมาชิกใหม่ (คนที่ไม่เคยมางานหรือรู้จัก H&F)
– รับรู้เรื่องราวทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ โดยเฉพาะด้านเสียงและดนตรีไม่ต่ำกว่า xxx คน
– เพลงและเสียงถูกขายให้กับคนหรือองค์กร ไม่ต่ำกว่า xxx ชิ้น
กลุ่มสมาชิกเดิม (คนที่เคยมางาน H&F)
– เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้วิถี ไม่ต่ำกว่า xx คน
– เกิด community ของคนที่ชื่นชอบด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย
เป้าหมาย 3 ปี
กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง
– จำนวนคนในชุมชนเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ต่ำกว่า xx คน
– ศิลปินที่เราทำงานด้วยได้รับรายได้ไม่ต่ำกว่า xxx บาท
กลุ่มสมาชิกใหม่ (คนที่ไม่เคยมางานหรือรู้จัก H&F)
– รับรู้เรื่องราวทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ โดยเฉพาะด้านเสียงและดนตรีไม่ต่ำกว่า xxx คน
– เพลงและเสียงถูกขายให้กับคนหรือองค์กร ไม่ต่ำกว่า xxx ชิ้น
กลุ่มสมาชิกเดิม (คนที่เคยมางาน H&F)
– เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้วิถี ไม่ต่ำกว่า xx คน
– เป็นผู้เผยแพร่และบอกต่อเรื่องราวของชุมชน ไม่ต่ำกว่า xx คนหรือองค์กร
5 ปี
กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง
– ศิลปินท้องถิ่นมีจำนวน xxx คนทั้งในไทยและต่างประเทศ
– ศิลปินที่เราทำงานด้วยได้รับรายได้ไม่ต่ำกว่า xxx บาท
– เกิดพื้นที่ที่มีความหลากหลายและปลอดภั ของกลุ่มชาติพันธุ์กับคนทั่วไป ได้มาแลกเปลี่ยน พูดคุยกับคนต่างๆ เพื่อเรียนรู้กันและกัน
คำถามทบทวน (สำหรับผู้ทำโครงการและโค้ช)
- ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาและข้อมูลเชิงลึกใช่หรือไม่
- เป้าหมายมีความเฉพาะเจาะจง เป็นรูปธรรม วัดผลได้ และสามารถทำได้จริงใช่หรือไม่
4. Activities กิจกรรมหรือกลยุทธ์ที่จะใช้
เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ และไปสู่ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น ตอนนี้เราจะมีสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว และระบุภาพการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเป้าหมายในอนาคตแล้ว เรามาดูกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ปัจจุบัน กลายไปเป็นอนาคตที่เราอยากเห็นได้

ตัวอย่างเช่น
Hear & Found ต้องการแก้ไขปัญหา คนชนเผ่าพื้นเมืองถูกมองเป็นอื่น ไม่ได้รับการยอมรับ โดยเกิดขึ้นจากสื่อหลัก ที่ให้ข้อมูลแค่ข้างเดียว ส่งผลให้คนชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ต้องการเป็นตัวเอง เช่น พูดภาษาแม่น้อยลง แต่งการแบบตนเองน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศไทยน้อยลง เกิดการสูญหายทางวัฒธรรม ซึ่ง Hear & Found ต้องการเห็นภาพ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง/กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
1. ภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง รู้ว่าตัวเองก็สามารถที่จะเป็นตัวเองได้
2. สามารถนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของตัวเองมาสร้างรายได้
3. วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกยืดอายุนานขึ้น
รวมถึง
1. คนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2. ทำให้สังคมมีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม สามารถอยู่ร่วมกันในความแตกต่างได้
3. ลดความขัดแย้งทางความคิด
Hear & Found จึงออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
1. เป็นสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องราวและวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น World Music Festival เวิร์คชอป ทริปท่องเที่ยว
2. ทำ Local Music and Sound Online Library

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ศึกษางานของ Hear & Found ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/hearandfound
คำถามทบทวน (สำหรับผู้ทำโครงการและโค้ช)
- กิจกรรมที่เลือกทำสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา ข้อมูลเชิงลึก และเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่
- กิจกรรมที่เลือกทำสามารถส่งผลให้เกิดภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นได้มากน้อยแค่ไหน
- กิจกรรมที่เลือกทำเป็นสิ่งที่เราพอมีทรัพยากรอยู่แล้วหรือไม่
หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ https://m.me/insights4change หรือ ลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นในการพัฒนา Theory of Change ได้ที่ Insights Review Session