จากเส้นทางการทำความเข้าใจปัญหา ค้นหา Insights ของ Hear & Found ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในบทความก่อนหน้านี้ เมื่อ สามารถระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไขและค้นพบ Insight แล้ว
สำหรับเมและรักษ์ “Insight หรือข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาเป็นเหมือนหนังสือบทแรกที่ทำให้ทีม Hear & Found มีข้อความหรือชุดความคิดหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับนำไปทำงาน และตัว Insight เองก็ยังพัฒนาต่อไปได้อีกเมื่อเรานำไปใช้งาน และต่อเติมให้สมบูรณ์มากขึ้น”
ภาพจาก Hear & Found
การมีข้อมูลเชิงลึก หรือ Insight ที่แข็งแรง เป็นรากฐานที่สามารถต่อยอดไปสู่การทำงานที่หลากหลาย ร่วมกับคนหลายกลุ่มเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังที่ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา Hear & Found ได้นำข้อมูลเชิงลึกไปใช้ในการทำงาน คือ
- การทำงานกับชุมชน
ในการทำงานกับชุมชน Insight เป็นจุดเริ่มต้นในการ สร้างวัตถุประสงค์การทำงานร่วมกันและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ด้วยการชวนพูดคุยและสอบถามข้อมูลกับคนในชุมชนที่เข้าไปทำงานด้วย เพื่อทำความเข้าใจชุมชน รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ได้ทดสอบความเข้าใจของเราที่มีต่อ Insights ไปด้วยในตัว ว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ผ่านการนำ Insight ไปสอบถามว่าคนในพื้นที่เคยเจอประสบการณ์ หรือปัญหานี้หรือไม่ โดยปรับรูปแบบคำถามให้เหมาะสมกับคนที่ไปพูดคุยด้วย
เช่น เมื่อทำงานกับชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้และอยากรู้ประสบการณ์ความเข้าใจผิดที่คนในชุมชนเคยได้รับ ได้ถามพี่ ๆ ว่า “พี่เคยเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี เวลาเราพูดว่าเรามาจากจังหวัดที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้บ้างไหม หรือเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีบ้างไหม เวลาเราบอกว่าเราเป็นใคร มาจากที่ไหน”
หรือในการทำงานกับคนในชุมชนคลองเตย ที่หลายคนอาจมีภาพจำจากสื่อว่าเป็น “สลัม” ก็พบว่าคนในชุมชนอยากให้คนนอกเข้าใจเขาได้ถูกต้อง จึงได้ชวนพี่ในชุมชนคุย ว่าทำไมเขาจึงอยากให้คนมาเข้าใจเขามากขึ้น มีเรื่องราวอะไรที่คนที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ไม่ค่อยได้รับรู้บ้าง เพราะทางชุมชนเองก็น่าจะมีเรื่องราว เบื้องหลังอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในสื่อ รวมถึงบางคนที่อาจจะรู้สึกว่าคนที่อาศัยอยู่ในสลัมคลองเตยดูน่าสงสาร ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นแบบนั้นไหม หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร
การมีวัตถุประสงค์และข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสังคมที่ชัดเจน มีส่วนช่วยทำให้คนในชุมชนเปิดใจเล่าเรื่องราวของตัวเอง และสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเปิดใจในการทำงานร่วมกันได้ ที่สำคัญยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้สื่อสารเรื่องราวของชุมชนและสิ่งที่อยากให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างถูกต้อง
- การสื่อสารจุดยืนและตัวตนให้คนรู้จัก
แม้เมและรักษ์จะใช้ Insights ในการทำงานและสื่อสารกับชุมชนอย่างชัดเจน แต่ในช่วงแรกที่ต้อง pitching และสื่อสารจุดยืนของบริษัทกับนักลงทุน หรือคนให้ทุน ประเด็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองเป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ประกอบทั้งคู่คิดว่าเป็นประเด็นที่เข้าใจยาก ไม่แน่ใจว่าเล่าไปแล้วผู้ฟังจะเข้าใจหรือไม่ จึงยังไม่ได้เน้นการเล่าถึงข้อมูลเชิงลึกและปัญหาที่ต้องการแก้ไข กลับกลายเป็นว่าคนฟังยังไม่เข้าใจว่า Hear & Found อยากแก้ไขปัญหาอะไร และมีคำถามเยอะมากว่าสิ่งที่จะทำมีความสำคัญอย่างไร และความเข้าใจ การยอมรับในความหลากหลายจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
หลังจากเจอประสบการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่หลายเดือน ทั้งคู่พบว่า คนฟังต้องการเข้าใจถึงปัญหาสังคม และเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ทั้งสองคนจึงเลือกใช้ Insights มาเป็นแกนหลักในการสื่อสาร โดยเลือกเล่า Insight ในประเด็นว่า
“ในประเทศไทยมีคนชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 6.1 ล้านคน มีทั้งหมด 60 กลุ่มชาติพันธุ์ และพวกเขากำลังเจอผลกระทบจากการเหมารวมของสื่อ ซึ่งการเหมารวมนี้มีส่วนที่ส่งผลทำให้พวกเขารู้สึกไม่กล้าเป็นตัวเอง และกระทบถึงความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง พวกเขาจึงคิดว่า การเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นเหมือนๆ กับคนอื่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า จากตรงนี้จึงส่งผลให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศไทยค่อยๆ สูญหายไป Hear & Found จึงเข้ามาแก้ปัญหานี้ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารอีกแง่มุมหนึ่งให้คนทั่วไปได้เข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น”
เมื่อ Insight ถูกเล่าออกไปอย่างมั่นใจ คนฟังก็เข้าใจและจดจำสิ่งที่ Hear & Found ทำได้ ทำให้การสื่อสารและการทำงานร่วมกันง่ายขึ้น เมบอกว่า “พอเราพัฒนาวิธีการสื่อสาร ทำให้คนเข้าใจประเด็นนี้ได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม กับ Insights ที่อาจจะดูไกลตัวหรือเข้าถึงยากได้ มันก็กลายเป็นจุดยืนที่ทำให้คนจำเราได้ชัดเจน และเราก็มีจุดยืนในการทำงานที่ชัดเจนด้วย”
ที่สำคัญคือ การใช้ Insight มาเล่านั้น เป็นการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงที่ทำให้คนได้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงอีกด้วย
นิทรรศการ Sound of the Soul ภาพจาก Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- การสร้างความตระหนักรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลง
จากการได้พูดคุยและทำงานกับคนในชุมชน ช่วยยืนยันว่า Insights ที่พบนั้นเป็น Insights ที่ใช่จริงๆ และคนในชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับ Insights นี้ พวกเขายังบอกว่า “พวกเขาไม่ได้อยากถูกเข้าใจผิด และอยากให้คนอื่นรู้ด้วยว่าเขาเป็นคนแบบไหน เพื่อที่จะได้เข้าใจเขาได้ถูกต้อง”
Hear & Found จึงทำงานร่วมกับชุมชนด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และความถนัดของทีมที่ถนัดเรื่องเสียง ดนตรี การสื่อสาร การเล่าเรื่อง และการสร้างประสบการณ์ มาประกอบกับโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้า แล้วนำมาออกแบบประสบการณ์และการสื่อสารผ่านงานที่หลากหลาย เช่น งานดนตรีชาติพันธุ์ งาน Sound Exhibition ที่สร้างประสบการณ์การฟังเสียงและเรื่องราวจากชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ และ workshop
งานทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารและให้ข้อมูลว่าที่จริงแล้ว ประเทศไทยประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ มากมาย และในบางงานก็ได้สื่อสารเรื่องราวของวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีความเป็นอยู่ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสรู้จักและเข้าใจคนกลุ่มต่างๆในมุมมองใหม่
นอกจากนี้ เมื่อ Hear & Found ได้มีโอกาสไปสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือเป็น speaker ในงานต่างๆ ยังได้นำ Insights ไปใช้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา ด้วยการเล่าถึงปัญหาว่า มีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง และสถานการณ์เหล่านี้มีผลกระทบกับคนชนเผ่าพื้นเมืองอย่างไร หรือแม้แต่คนที่มีความแตกต่างทางความเชื่อหรือวัฒนธรรมต้องพบเจอเหตุการณ์อะไรบ้างจากการถูกเหมารวมหรือถูกเข้าใจผิด
- การสร้าง Mission Statement ร่วมของทีม
Hear & Found เคยไปเข้าโปรแกรม incubation ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยในระหว่างโปรแกรมได้รับโจทย์ให้คิด Mission Statement ของทีมที่สื่อถึงสิ่งที่ทีมจะทำและการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น เมเล่าว่า ในตอนแรกทีมก็พยายามคิดคำที่ดูเท่ หรูๆ มาเป็น Mission Statement ใช้เวลาคิดกันอยู่นาน สุดท้ายก็ซื่อสัตย์กับตัวเองว่า ทำไมไม่ใช้คำที่บอกสิ่งที่เราทำมาอยู่แล้วตลอดล่ะ
Mission Statement จึงมาจาก Insights และ สิ่งที่ Hear & Found ทำมาตลอด คือ “Erase Existence Discrimination Against Indigenous People” ซึ่งเป็นเหมือนธงของทุกคนในทีมว่าพวกเขาทำ Hear & Found ไปเพื่ออะไร และมี เป้าหมายอะไรที่อยากทำให้สำเร็จ
ภาพจาก Hear & Found
Insights กับความเข้าใจที่กว้างขึ้นในมิติต่างๆ ของปัญหา
ย้อนกลับไปก่อนที่ Hear & Found จะได้ Insights มา พวกเขาก็ต้องผ่านความท้าทายมาไม่น้อยเพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการหา Insights มาก่อน เมเล่าว่า “ตอนนั้นเรายังไม่ได้ใช้เครื่องมือได้คล่องแคล่ว ก็จะรู้สึกว่าเป็นเครื่องมือที่ยาก จะเอาไปใช้ยังไง แล้วต้องลึกขนาดไหนจึงจะเรียก Insights แต่พอเราผ่านกระบวนการไปหา Insights ได้สัมภาษณ์คนเยอะๆ คุยกับคนหลายๆ กลุ่ม และไปหาว่ามีใครเป็น stakeholders ของเราบ้าง นอกจากนี้เราก็ไปดูด้วยว่าในต่างประเทศเขาเจอปัญหาเหมือนเราไหม ทั้งหมดนี้คือกระบวนการหา Insights ที่เราทำ จนสุดท้ายเราได้ข้อมูลมากพอที่จะตกผลึก และคอนเฟิร์มว่า Insight นี้มีอยู่จริงด้วยการ Validate Insights”
ในตอนนี้กระบวนการหาข้อมูลเชิงลึกที่ Hear & Found ใช้ยังคล้ายเดิม คือใช้การพูดคุย สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล แต่การเก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ในการหา Insights มาตลอดหลายปี ทำให้ได้พัฒนาทักษะจนใช้เครื่องมือได้คล่องแคล่วและทำกระบวนการได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก
การทำงานในประเด็นนี้พา Hear & Found ไปพบกับเครือข่ายและกลุ่มคนทำงานด้านชนเผ่าพื้นเมืองหลากหลายกลุ่ม เช่น คนชนเผ่าพื้นเมืองในหลายพื้นที่ องค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ช่วยกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย การได้พบและพูดคุยกับคนในเครือข่ายเหล่านี้ที่เห็นปัญหาร่วมกัน และทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ช่วยยืนยันกับ Hear & Found ว่า Insights ที่ค้นพบยังคงเป็น Insights ที่ใช้ทำงานได้ และทำให้สามารถพูดคุยกับเครือข่ายและค้นพบข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมในมิติต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านที่ดินทำกิน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาด้านวัฒนธรรม ปัญหาด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของคนในพื้นที่ เช่น ได้พบข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการทำไร่หมุนเวียนและการดูแลป่าของชนเผ่าพื้นเมืองจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และนำข้อมูลที่ได้ค้นพบมาใช้ทำงานต่อไปได้ โดยเฉพาะการในทำงานกับชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้าใจถึงปัญหาทางสังคม
Insight กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
เมื่อ Hear & Found เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีคนมาปรึกษากับเมว่า พวกเขาสนใจแก้ปัญหาสังคม มีปัญหาที่อยากแก้ เมจะแนะนำให้หา Insights ก่อน เพราะด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจความสำคัญของ Insights
“การหา Insights เป็น effort อยากให้หาข้อมูล หา Insights ให้ลึกที่สุด เพราะถ้าเราหาได้ลึก เราจะสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ และมีคนที่ได้ผลประโยชน์ที่แท้จริง แต่ถ้าเราหา Insights ได้ไม่ลึกพอ เราอาจจะทำงานต่อลำบาก และอาจจะทำให้การแก้ปัญหาของเราไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจ”
ท้ายที่สุดแล้ว การทุ่มเทในกระบวนการทำความเข้าใจปัญหาจนได้ Insights ที่ใช่ แข็งแรงพอ เป็นสิ่งที่ทำให้ Hear & Found มีจุดยืนที่มั่นคงและยืนระยะมาได้ถึง 5 ปี อย่างที่เมบอกไว้ว่า
“อยากให้เชื่อว่า Insights มีประโยชน์จริงๆ และอยากให้เชื่อตัวเองด้วยว่าการทุ่มเทแรงใจแรงกายในการไปค้นหา Insights มันจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว ในกระบวนการการเรียนรู้ การวิ่งเข้าหาประสบการณ์ การเก็บข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลจนกลายเป็น insights นั้นถือเป็นการทุ่มเทหนึ่งครั้ง เพื่อให้เราสามารถเดินทางต่อไปได้ในระยะยาว อย่างตอนที่เราเรียนรู้และค้นหา insight ก็ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนเลย แต่มันช่วยเปิดประตูให้เราสามารถทำงานมาต่อได้ถึง 5 ปี แม้ว่ากระบวนการอาจจะไม่ง่ายนัก แต่การเดินทางนี้มันจะคุ้มค่า สมกับที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง
ที่สำคัญที่สุดคือ คนตัวเล็ก ๆ ก็ทำได้ เพราะ Hear & Found ก็เริ่มต้นด้วยคนแค่สองคน”
พี่กลุ่มสตรีบ้านสะเนพ่อง จ.กาญจนบุรี มา ‘อาบเสียง’ จากบ้านสะเนพ่องในงาน Sound Soaking
Impact จากการทำงาน 5 ปี ของ Hear & Found
จากการทำงานมา 5 ปีของ Hear & Found ได้ต่อยอด Insights ไปเป็นงานที่สร้างความเข้าใจและมุมมองใหม่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนชนเผ่าพื้นเมืองและสร้าง impact ดังนี้
- เรื่องราวที่สื่อสารและกิจกรรมที่จัด สามารถเข้าถึงคนประมาณ 220,000 กว่าคน ผ่านกิจกรรมมากกว่า 35 กิจกรรม ทั้งงานอีเวนต์ดนตรี งานนิทรรศการ งาน workshop รวมทั้งการสื่อสารทางออนไลน์
- มีข้อมูลของชุมชน ในรูปแบบดิจิทัล งานเสียง วิดีโอ ภาพ รวมแล้วมากกว่า 1,000 ชิ้น
- จากการวัดผลกิจกรรมกับคนเข้าร่วมกิจกรรม หรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม 80% ของคนที่มาร่วมงานเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น และมีไม่น้อยที่ตามไปสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมืองต่อด้วยตัวเอง เพราะหลายๆ ชุมชน นอกจากจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชุมชนแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ข้าวดอย ถุงผ้า เสื้อผ้าที่เขาทำ น้ำผึ้ง โดย Hear & Found ได้ช่วยเชื่อมเครือข่ายระหว่างคนที่มาร่วมงานและคนชนเผ่าพื้นเมืองให้เกิดขึ้นด้วย
- มีคนมาเป็นอาสาสมัคร เช่น Graphic Designer จากอเมริกา
- ฝั่งของชุมชนเอง ปัจจุบัน Hear & Found ทำงานอยู่กับคนชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 8 กลุ่ม รวมทั้งนักดนตรีและคนในพื้นที่อีกประมาณ 50 กว่าคน โดยศิลปิน และคนในชุมชนสามารถสร้างรายได้ประมาณ 590,000 กว่าบาทจากการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้ชวนพี่ๆ คนชนเผ่าพื้นเมืองมาดูงานที่กรุงเทพฯ ว่า เรื่องราวของพี่ๆ ถูกสื่อสารไปอย่างไร และคนที่มางานได้รับมุมมองใหม่ๆ กลับไปอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ในช่วงที่ทำกระบวนการหา Insight Hear & Found พบว่า การได้ไปคุยกับกลุ่มคนชนเผ่าพื้นเมือง ได้ไปฟังเรื่องที่เขาเล่า ทำให้รู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน รู้จักตัวตน และแนวคิดของเขา ไปจนถึงสิ่งที่ทำให้เขาเป็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งหนึ่งใน key success ของ Hear & Found ก็คือการฟัง เพราะเชื่อว่าถ้าฟังกันได้มากขึ้น เราก็จะเข้าใจกันได้มากขึ้น เพราะการฟังหมายถึง การเปิดโอกาสในการรับข้อมูล รับความรู้สึกของผู้สื่อสาร รับรู้เรื่องราวที่อาจไม่เคยได้รู้มาก่อน ซึ่งสามารถนำไปสู่การเปิดใจ เปิดประสบการณ์ และนำไปสู่ความเข้าใจกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายได้ในที่สุด
- การใช้การเล่าเรื่อง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้คนเข้าใจปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน