Empathy IDG

Skills for Sustainability : Empathy 

การสร้างการเปลี่ยนแปลง จุดตั้งต้นที่สำคัญ คือการทำความเข้าใจปัญหาทั้งคนและระบบ เพื่อให้เราเข้าใจสถานการณ์ ที่มาที่ไป เหตุผลเบื้องหลังของคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น บริบทรอบข้าง โดยไม่ด่วนตัดสินจากมุมมองหรือประสบการณ์ของตัวเอง หนึ่งในทักษะที่สำคัญมากของนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความเข้าอกเข้าใจ หรือ  Empathy  ที่ช่วยให้เราเปิดใจรับฟังผู้อื่น เห็นปัญหาที่แท้จริง และอยากลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ

Empathy and Compassion ใน Inner Development Goals

ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับ SDGs หรือ Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายที่ประชาคมโลกกำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลกและสร้างความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้สำเร็จภายในปี 2030  แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าการทำเป้าหมาย SDGs ให้สำเร็จไม่ง่ายนัก ทีม Inner Development Goals มองว่าการมี SDGs อย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ และแผนการที่วางไว้เพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จทำได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ดังนั้น การกลับมาที่ตัวเอง ลงลึกตั้งแต่การพัฒนาจากภายใน ทั้งทักษะและคุณสมบัติภายในอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงซึ่งทักษะนี้รวมถึง Empathy และ Compassion ด้วย 

ในปี 2020 Inner Development Goals หรือ IDGs ได้พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Ekskäret Foundation, The New Division และ 29k Foundation ร่วมกับกลุ่มนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการพัฒนาภาวะผู้นำและความยั่งยืนจากประเทศสวีเดนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

IDG Framework

โดย IDGs แบ่งทักษะและคุณสมบัติที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างความยั่งยืนออกเป็น 5 หมวด ไว้ใน Inner Development Goals framework (IDG framework) ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพภายในตัวเราเอง คือ 

  1. Being – Relationship to Self 

ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับโลกภายในของตัวเองอย่างลึกซึ้งทั้งด้านความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกายของเรา สามารถอยู่กับปัจจุบัน พร้อมเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน

  1. Thinking – Cognitive Skills

ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการคิด ความรู้ความเข้าใจ ผ่านมุมมองที่หลากหลาย การวิเคราะห์และประเมินข้อมูล เห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง เพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด 

  1. Relating – Caring for Others and the World 

ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการรู้ซึ้งในคุณค่า มีความห่วงใยและรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น ตั้งแต่เพื่อนบ้าน ไปจนถึงธรรมชาติสิ่งมีชีวิตในโลก ซึ่งจะทำให้เราสามารถสร้างสังคมและระบบที่มีความยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคนได้ 

โดย Empathy และ Compassion เป็นทักษะที่อยู่ในหมวดนี้ IDG framework ได้นิยามความหมายของ Empathy และ Compassion ไว้ว่า “ความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่น ตนเอง และธรรมชาติ ด้วยความเอื้อเฟื้อ ความเข้าอกเข้าใจ ความเมตตากรุณา และช่วยขจัดความทุกข์”

  1. Collaborating – Social Skills

เน้นการพัฒนาความสามารถในการประสานความร่วมมือ สื่อสาร กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ที่อาจมีการให้คุณค่า ทักษะ และความสามารถแตกต่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก

  1. Acting – Enabling Change 

คุณสมบัติในหมวดนี้เป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้เราพัฒนาทักษะและศักยภาพของเราให้สูงขึ้น ก้าวข้ามกรอบความคิดแนวทางเดิมๆ มีความคิดริเริ่ม และมีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อในการลงมือแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


IDG framework ทำให้เห็นชัดขึ้นว่าในการแก้ไขปัญหาสังคมและสร้างความยั่งยืน Empathy เป็นทักษะที่ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น เห็นคุณค่าและความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเราจะห่วงใยสิ่งเหล่านี้ ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา แต่พยายามเข้าไปทำความเข้าอกเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น (Empathy) และอยากที่จะลงมือแก้ไขปัญหานั้น (Compassion) 

ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการแบ่งหมวดของ IDG framework เริ่มจากหมวดที่เกี่ยวข้องกับโลกภายในมากที่สุด แล้วขยายออกสู่โลกภายนอกอย่างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ธรรมชาติ การสร้างความร่วมมือกัน ไปจนถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการมีทักษะและคุณสมบัติในการเชื่อมโยงกับโลกภายในของตัวเอง จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้ดียิ่งขึ้น

Photo by Kateryna Hliznitsova on Unsplash

Empathy คือ ทักษะที่พัฒนาได้ 

Empathy ไม่ใช่พรสวรรค์เฉพาะตัว แต่เป็น ทักษะ ที่เราทุกคนพัฒนาขึ้นได้ ย้อนไปในวัยเด็ก เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่เราใกล้ชิดด้วย และด้วยสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู Empathy จะถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ในการเติบโตของเรา

Tovah Klein นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและผู้อำนวยการ Barnard College Center for Toddler Development ในนิวยอร์ก, Erin Walsh และ David Walsh นักจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้ร่วมก่อตั้ง Spark & Stitch Institute ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องพัฒนาการของ Empathy ในเด็ก ไว้ในบทความ Are your kids mean — or are they just acting their age? ใน The Washington Post ว่า เด็กทารกที่เกิดมายังไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีการเริ่มพัฒนารากฐานของ Empathy แล้ว เช่น ถ้ามีเด็กทารกที่อยู่ในห้องเด็กแรกเกิดเสียใจ เด็กคนอื่นก็จะแสดงอาการเสียใจตามไปด้วย แม้ว่าเด็กๆ จะยังไม่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขาสัมผัสความรู้สึกของกันและกันได้ 

เมื่อลองมาดูพัฒนาการของ Empathy ในเด็กๆ ที่อายุ 18 เดือน – 2 ขวบก็พบว่ามีการพัฒนาที่น่าทึ่งมาก David ยกตัวอย่างการทดลองว่า ถ้าเราทดลองด้วยการกินขนมปังกรอบและบร็อคโคลีให้เด็กๆ ดู  ถ้าเรากินขนมปังกรอบ แล้วแสดงออกว่าไม่ชอบ บอกว่าไม่อร่อยเลย ก่อนจะกินบร็อคโคลีอย่างเอร็ดอร่อย แล้วบอกเด็กๆ ว่าบร็อคโคลี่อร่อยมากๆ หลังจากนั้นถ้าเราขอให้เด็กๆ เลือกของให้กิน เด็กอายุ 18 เดือน จะหยิบสิ่งที่ตัวเองชอบกินคือขนมปังกรอบให้เรากินด้วย แม้ว่าเราจะไม่ชอบก็ตาม แต่เด็กที่อายุ 2 ขวบ ส่วนใหญ่จะหยิบบร็อคโคลีให้เรา เพราะเด็กในวัยนี้รู้แล้วว่าสิ่งที่ตัวเองชอบกับสิ่งที่คนอื่นชอบอาจจะไม่เหมือนกัน รู้ว่าคนเรามีความชอบ ความต้องการแตกต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของทักษะ Empathy 

เราจะเห็นว่าเด็กมีพัฒนาการของ Empathy มาเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกเกิดและช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการพัฒนา Empathy ต่อไปคือพัฒนาตั้งแต่ยังเด็ก เราจะขอยกตัวอย่างเครื่องมือและกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับพัฒนาทักษะ Empathy ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ผู้ปกครอง องค์กรที่ต้องการพัฒนา หรือคนทั่วไป สามารถทำได้ 

ตัวอย่างเครื่องมือและกิจกรรมพัฒนา Empathy 

  1. A Toolkit for Promoting Empathy in Schools โดย Ashoka 
    เครื่องมือนี้เหมาะกับ: โรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง

A Toolkit for Promoting Empathy in Schools 

Ashoka เป็นองค์กรที่ทำงานสนับสนุนนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและผู้ประกอบการทางสังคมทั่วโลก จากการทำงาน Ashoka พบว่าผู้คนที่กล้าลุกขึ้นมาลงมือแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลง นอกจากพวกเขามีทั้งความเป็นผู้นำ เป็นนักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  สามารถทำงานเป็นทีมเวิร์กที่ดีได้ พวกเขายังมีสิ่งหนึ่งร่วมกันคือคุณสมบัติสำคัญของนักเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Empathy

Ashoka จึงได้จัดทำ A Toolkit for Promoting Empathy in Schools ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางและสนับสนุนการบ่มเพาะ Empathy ในโรงเรียน ที่บ้าน และในชุมชน 

A Tookit for Promoting Empathy in Schools แบ่งกระบวนการสร้าง Empathy เป็น 3 ขั้นตอน เรียกว่า The Empathy Roadmap ประกอบด้วย การเตรียมพร้อม (Prepare)  การสร้างการมีส่วนร่วม (Engage) การลงมือทำและทบทวนสะท้อน (Reflect & Act) กระบวนการทั้งหมดนี้พัฒนาเด็กๆ อย่างเป็นระบบ ทำให้เด็กได้มีพื้นที่ปลอดภัย ได้พัฒนาความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและกล้าลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในที่สุด ในแต่ละขั้นตอนจะมีตัวอย่างกิจกรรมและโปรเจกต์ที่หลากหลาย มีทั้งกิจกรรมที่ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 นาที จนถึงโปรเจกต์ที่ใช้เวลาทำเป็นเดือน 

ในคู่มือระบุว่า การที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะ Empathy นั้น ช่วยให้บรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น ครูมีความเข้าอกเข้าใจ รู้ความต้องการของเด็ก และจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับครูเองก็รู้สึกว่าโรงเรียนไว้ใจและเข้าใจ จึงมีกำลังใจในการทำงานและพัฒนาการเรียนการสอน  เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ เพราะการมี Empathy ไม่ได้ทำให้เราปฏิบัติต่อคนอื่นดีขึ้นเท่านั้น แต่ทำให้เรากล้าลงมือทำสิ่งที่ดีขึ้นด้วย เมื่อเด็กๆ โตขึ้นพวกเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มี Empathy และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้ 

ดาวน์โหลด A Toolkit for Promoting Empathy in Schools 

  1. Transition Makers Toolbox, Transition Maker Cards และ IDG Toolkit โดย Inner Development Goals
    เครื่องมือนี้เหมาะกับ: โรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง

Transition Makers Toolbox

Transition Makers Toolbox เป็นชุดกิจกรรมที่พัฒนาทักษะและคุณสมบัติทั้งหมด 23 ทักษะ  ที่อยู่ใน IDG framework ทั้ง 5 หมวด ซึ่ง Transition Makers Toolbox นี้สามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ ในแต่ละทักษะ/คุณสมบัติ จะมีกิจกรรมให้ 1-3 กิจกรรม สิ่งที่น่าสนใจคือชุดกิจกรรมนี้สมบูรณ์มาก เพียงแค่ทำความเข้าใจก็นำกิจกรรมได้ โดยเมื่อเราเข้าไปดูในเว็บไซต์และเลือกกิจกรรมที่สนใจแล้ว เราจะพบคำอธิบายภาพรวมของกิจกรรม ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง ขั้นตอนการทำกิจกรรมอย่างละเอียด พร้อมกับคำแนะนำและชุดคำถามที่ใช้ระหว่างกิจกรรม ใบงาน และสุดท้ายยังมีชุดคำถามสะท้อนการเรียนรู้ให้คนทำกิจกรรมได้ประเมินและสะท้อนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นด้วย

 Transition Maker Cards

Transition Maker Cards เป็นการ์ดชุดคำถามสำหรับกระตุ้นความคิด ทำให้เราได้ทบทวนทักษะ คุณสมบัติภายใน สิ่งที่เราให้คุณค่า และประสบการณ์ที่พบเจอ ตัวอย่างคำถาม เช่น มีกิจกรรมหรือกลยุทธ์อะไรบ้างที่เราจะเอามาใช้ได้เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 

นอกจาก Transition Malers Toolbox และ Transition Maker Cards แล้ว ยังมี IDG Toolkit ที่เน้นการพัฒนาทั้ง 5 หมวดใน IDGs อย่างเชื่อมโยงกัน หนึ่งกิจกรรมสามารถพัฒนาได้หลายทักษะ ทำให้ทักษะต่างๆ ได้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน เช่น กิจกรรม Nature Quest ในหมวด Relating เป็นกิจกรรมที่ให้เราไปที่สวน เข้าป่า หรือไปริมน้ำ มีเวลาอยู่กับธรรมชาติโดยไม่มีสิ่งอื่นมารบกวน ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนา หมวด Acting คือมีความอยากปกป้องรักษาธรรมชาติไว้ และยังพัฒนาหมวด Being ไปด้วย ด้วยการสังเกต สำรวจความรู้สึก ความคิด ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราอยู่ในธรรมชาติ 

เข้าชม Transition Makers Toolbox , Transition Maker Cards และ IDG Toolkit (อยู่ในส่วนที่ 5 ของ report)

  1. Resources for Family ของ Making Caring Common Project โดย Making Caring Common Project
    เครื่องมือนี้เหมาะกับ: ผู้ปกครอง

Resources for Families

Making Caring Common Project เป็นโปรเจกต์ของ Harvard Graduate School of Education ที่มีเป้าหมายพัฒนาเด็กๆ ให้มีความห่วงใย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และใส่ใจประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสร้างชุมชนและโลกให้น่าอยู่มากขึ้น ในเว็บไซต์มีบทความสำหรับผู้ปกครองโดยเฉพาะ เช่น เราจะสอนให้เด็กเรียนรู้จากความผิดพลาดได้อย่างไร เราจะพัฒนาให้เด็กมีความรู็สึกขอบคุณ ซาบซึ้ง (Gratitude) ได้อย่างไร

บทความเกี่ยวกับ Empathy ที่อยากหยิบมาเล่า คือเรื่อง How to Show Empathy Through Caring โดยมีตัวอย่างวิธีการและกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ใช้ในการพัฒนาเด็กๆ ให้มีความห่วงใย เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เช่น ชื่นชมเมื่อเด็กๆ มีความห่วงใยหรือช่วยเหลือผู้อื่น โดยเน้นไปที่การกระทำที่เด็กๆ ทำ  หรือเล่นเกมกับเด็กๆ โดยเมื่อเด็กๆ ได้รับความห่วงใยจากคนในครอบครัว  หรือเห็นการกระทำที่แสดงถึงความห่วงใยเมื่อออกไปบ้าน หรือได้ฟังข่าว ได้รู้เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับความห่วงใยผู้อื่น ก็ให้จำแล้วมาเล่าให้ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ฟังตอนเย็น 

อีกกิจกรรมหนึ่งคือ ชวนเด็กๆ คิดว่าพวกเขาจะแสดงความห่วงใยหรือช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไรได้บ้างทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ในชุมชนที่อาศัยอยู่ และโลกรอบๆ ตัว แล้วจดไอเดียลง Act of Caring Cards ผ่านไป 1 สัปดาห์ลองมาดูว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้ไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้ฝึก Empathy ผ่านการแสดงความห่วงใยและการช่วยเหลือผู้อื่น และเมื่อเด็กๆ ได้ทำบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัยติดตัวไปอัตโนมัติ

เข้าชม Resources for Families และบทความอื่นๆ 

  1. เวิร์กช็อป เราต่างเหมือนกัน  โดย มนุษย์ต่างวัย
    เครื่องมือเหมาะกับ: ทุกคน

เวิร์กช็อป เราต่างเหมือนกัน ภาพจาก มนุษย์ต่างวัย

เวิร์กช็อป เราต่างเหมือนกัน โดยทีมงานมนุษย์ต่างวัย เป็นเวิร์กช็อปที่พัฒนา Empathy ผ่านการเข้าอกเข้าใจคนต่างวัย โดยในเวิร์กช็อปมีผู้เข้าร่วมหลากหลายวัยตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยเกษียณ มาร่วมเปิดประสบการณ์ “ฟัง” กันและกัน หลายๆ คนพบว่าตัวเองไม่เข้าใจลูก หรือไม่เข้าใจพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลูกน้อง ในเวิร์กช็อปนี้ วัยรุ่นได้ฟังผู้ใหญ่และวัยเกษียณ ผู้ใหญ่ก็ได้ฟังวัยรุ่นและวัยเกษียณ ผ่านกิจกรรมและเครื่องมือต่างๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปต่างสะท้อนว่าหลังจบกิจกรรมแล้วพวกเขาได้เข้าใจคนต่างวัยมากขึ้น ทำให้เขาได้นำประสบการณ์ที่ได้ฟังมาไปเปรียบเทียบกับคนใกล้ตัว เพื่อเข้าใจลูก เข้าใจพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือปู่ย่าตายาย ว่าทำไมจึงคิดแบบนี้ เขาเจอประสบการณ์อะไรมา ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน จึงได้คลายความสังสัย ความไม่เข้าใจที่มีอยู่ และที่สำคัญคือได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น 

อ่านบทความ กิจกรรมเราต่างเหมือนกัน 5 เพราะแต่ละช่วงวัยคือความหลากหลาย ที่อยู่ร่วมกันได้ 

การพัฒนา Empathy ยังมีอีกหลากหลายเครื่องมือ หลากหลายวิธีให้เลือกใช้ และเมื่อเราได้พัฒนา Empathy เท่ากับว่าเราได้เรียนรู้ที่จะเปิดใจมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น ทำความเข้าใจมุมมองที่แตกต่างเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติรอบตัว เกิดความอยากลงมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน

แหล่งอ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม

บทความโดย