ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงการ โปรเจกต์ใดๆ ก็ตาม การเห็นเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับการเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก่อนจะสนุกกับไปคิดหาไอเดีย กิจกรรมที่ทำ วันนี้ Insights for Change (IN4C) อยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเครื่องมือที่ชื่อว่า Theory of Change (ToC) หรือ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง กระดาษ 1 แผ่นที่ช่วยบอกเล่าเส้นทางการของโครงการ/โปรเจกต์ของเราว่ากำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร เราจะแก้ไขปัญหาสังคม หรือความท้าทายอะไร ให้ใคร ด้วยวิธีไหน รวมถึงแนะนำวิธีการทำ Theory of Change ฉบับ Insights for Change ให้ทุกคนได้ลองนำไปใช้ดูค่ะ
Theory of Change (ToC) หรือทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง คืออะไร?
Theory of Change มีความหมายหลากหลายตามแต่ละองค์กรนำไปประยุกต์หรือใช้งาน เช่น United Nations Development Group (UNDG) นิยามว่า ToC คือ ‘วิธีอธิบายว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะนำไปสู่การพัฒนา- เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร’ ส่วนโปรเจกต์ Grantcraft ภายใต้มูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) นิยามว่า ToC คือ ‘กระบวนการวางแผนการเปลี่ยนแปลงสังคม จากสมมติฐานที่เป็นแนวทางการออกแบบ สู่เป้าหมายระยะยาว ที่จะทำให้สำเร็จ’
“A theory of change is a method that explains how a given intervention, or set of interventions, is expected to lead to specific development change, drawing on a causal analysis based on available evidence.”
– United Nations Development Group (UNDG)
สำหรับ Theory of Change ในแบบฉบับของ Insights for Change เปรียบเสมือน ‘แผนที่’ ที่แสดงความเชื่อมโยงและสอดคล้องกันระหว่าง 1. ปัญหา (ต้นทาง) 2. เป้าหมายและภาพการเปลี่ยนแปลง (จุดหมายปลายทาง) และ 3. วิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้นักสร้างการเปลี่ยนแปลงหลงทางและกลับมาทบทวนเส้นทางที่เดินมาได้เสมอ
ทำไมถึงต้องใช้ Theory of Change ?
จุดประสงค์ในการทำ Theory of Change มีหลากหลายไม่แพ้ความหมาย ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ขึ้นอยู่กับองค์กรหรือบริบทที่นำไปใช้ ซึ่งบางครั้ง Theory of Change ก็ถูกใช้ด้วยหลายจุดประสงค์พร้อมกันในคราวเดียว มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) แบ่งจุดประสงค์ในการทำไว้ 4 ข้อคร่าวๆคือ
- เป็นหลักในการคิดวางแผนกลยุทธ์ : หลายองค์กรใช้ ToC สร้างแผนกระบวนการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่คาดหวัง และกระตุ้นการดำเนินการโครงการ
- ติดตามและประเมินผล : ToC แสดงขั้นตอนและผลลัพธ์ที่คาดหวัง (expected outcome) ทำให้ผู้ใช้สามารถย้อนกลับมาทบทวนสิ่งที่ตนเองทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย และปรับเปลี่ยนมันได้ตามความเหมาะสมหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
- อธิบาย : เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับทั้งภายในและภายนอกองค์กรถึงปัญหาที่เราเลือกแก้ไข ให้เห็นภาพเดียวกัน
- เรียนรู้ : ToC ช่วยให้ผู้ใช้อธิบายและพัฒนาทฤษฎีเบื้องหลังการทำงาน เป็นตัวช่วยในการคิดงานต่อไปได้
นอกจากนี้ Theory of Change ยังสามารถช่วย ‘ขายของ’ ทำให้ผู้ให้ทุนหรือลูกค้าของเรา เห็นภาพชัดเจนว่าเขาจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หรือทุนที่เขามอบให้เรา จะถูกบริหารจัดการและใช้สอยอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไรกับใครบ้าง
จากจุดประสงค์ในการทำ Theory of Change ด้านบน มูลนิธิเอเชียยังจัดกลุ่มแนวทางการใช้งานไว้ 3 กลุ่ม ตามภาพด้านล่าง ดังนี้

- ToC เป็น Technical Tool เน้นใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการทำงานในทีม กลับมาทบทวน ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเครื่องมือวางแผนการทำงานอื่นๆ เช่น Logical Framework, Gantt Chart หรือ SCRUM Board เป็นต้น
- ToC เป็นหลักคิด ไม่ใช่เครื่องมือ (Canvas) แต่เลือกใช้เฉพาะแนวคิดของ ToC ในการดำเนินงาน ที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกันระหว่างปัญหา เป้าหมาย และกิจกรรมอยู่เสมอ
- ToC เป็น Political Literacy เน้นการพัฒนาความรู้เท่าทันการเมือง เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยแต่ซับซ้อน ไม่ใช้เครื่องมือและเน้นแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้น
“A theory of change also helps to identify the underlying assumptions and risks that will be vital to understand and revisit throughout the process to ensure the approach will contribute to the desired change”
– United Nations Development Group (UNDG)
ปัญหาต้องใหญ่แค่ไหนถึงจะใช้ Theory of Change ?
เราสามารถแบ่งระดับของ Theory of Change ตามขนาดของการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้าใจว่า ToC นี้จะถูกใช้งานอย่างไรและใช้ในจุดประสงค์ใดบ้าง เช่น
- การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล
ToC ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล มักจะเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง ความรู้สึก พฤติกรรม และ แรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมาย
เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่ง ต้องการจัดกิจกรรมให้ความรู้และฝึกทักษะการจัดการความขัดแย้งด้านศาสนาให้เด็กๆ คุณครูตั้งสมมติฐานว่า “ถ้าเด็กๆได้รับการอบรมและฝึกทักษะการจัดการความขัดแย้งแล้ว พวกเขาจะใช้ทักษะนี้ในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง” แต่ด้วยความกังวลว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นเหมือนดาบสองคม ที่เด็กจะใช้ทักษะนี้แก้ไขปัญหา หรือใช้ความรู้นี้ในการกระทำความรุนแรงได้เช่นกัน คุณครูจึงใช้ ToC กำหนดตัวชี้วัด 2 ข้อ คือ 1. เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมและสามารถแสดงถึงความเข้าใจในเนื้อหาและการพัฒนาทักษะผ่านการทดสอบก่อน-หลังเข้าร่วมกิจกรรม และ 2. เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่บอกว่ามีความมั่นใจที่จะใช้ทักษะจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อวัดผลว่าเด็กเข้าใจและจะสามารถใช้ความรู้และทักษะที่ได้หรือไม่ และมีแนวโน้มจะใช้ในทางที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://pdf.usaid.gov/pdf_docs/pnaed181.pdf
- การเปลี่ยนแปลงระดับชุมชนหรือกลุ่มคน
ToC ในระดับนี้มักจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลและชุมชน ในฐานะโครงสร้างหนึ่ง บางองค์กรใช้ ToC ในการทบทวนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มคน
เช่น องค์กร NGO ระหว่างประเทศแห่งหนึ่งได้รับเงินบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชุมชนท่ามกลางสงครามในประเทศไลบีเรีย พวกเขาตั้งสมมติฐานใน ToC ว่า “ถ้าเราสามาถทำให้ชุมชนขนาดย่อยมีเครื่องมือหรือวิธีการในการจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้ จะช่วยทำให้ชุมชนสงบสุขและหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรง” และเมื่อกิจกรรมของพวกเขาดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง ทีมประเมินผลก็พบว่า พวกเขาสามารถจัดการปัญหาระดับชุมชนได้จริง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มขัดแย้งรุนแรงเรื่องที่ดินได้อยู่ดี นั่นทำให้ทีมงานต้องกลับมาทบทวนแผนงานจาก ToC ใหม่อีกครั้ง ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ไม่สำเร็จตามที่คิดไว้ มีข้อมูลอะไรที่พวกเขาผิดพลาดไป จนกระทั่งพบว่าในขณะที่องค์กรนี้กำลังเตรียมตัวดำเนินการอยู่นั้น มีการเปลี่ยนแปลงผู้คนในพื้นที่ ทั้งคนใหม่เข้ามา คนเกิดใหม่ รวมถึงรูปแบบการปกครองแบบเก่าก็กลับขึ้นมามีอำนาจ ทำให้ความเป็นจริงไม่ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://pdf.usaid.gov/pdf_docs/pnaed181.pdf
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์กร ระบบ
ToC ถูกใช้เป็นสมมติฐานการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ความยุติธรรม สร้างระบบระเบียบใหม่ในสังคม คิดค้นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อมนุษย์ (น้ำ อาหาร สาธารณสุข เป็นต้น)
เช่น ถ้าเด็กนอกระบบที่ยากจน ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวหารายได้ มีโรงเรียนที่เข้าใจบริบทการใช้ชีวิต สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยระหว่างเรียนแล้วจะทำให้เขาไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือ ถ้าชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้แล้ว จะช่วยให้เด็กพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ซึ่งจากทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงนี้ เหมือนเป็นการสร้างต้นแบบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ เช่น การจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็กที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงิน เพราะถึงแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดของเด็กได้ ตัวอย่างเช่น
https://plus.thairath.co.th/topic/speak/102620
https://www.thekommon.co/klong-toey-deejung-music-sharing/
จากปัญหาระดับบุคคลสู่ปัญหาระดับโครงสร้าง ล้วนแล้วแต่ใช้ ToC เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเส้นทางการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น โดยมีการแบ่งระดับไว้เพื่อช่วยให้เกิดความชัดเจนในการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น
หัวใจของการใช้ Theory of Change
Theory of Change ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทขึ้นกับความสนใจของผู้ทำโครงการ เวลา ปัจจัยภายนอกต่าง ๆ จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อย่ายึดติดกับ ”วิธีการ” สิ่งสำคัญคือเราตั้งสมมติฐานมาจากข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ในการลงมือทำ(ไม่มโนเอาเอง) สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราอธิบายความเชื่อมโยงของกิจกรรมที่ทำว่านำไปสู่ภาพการเปลี่ยนแปลงที่วางไว้ หรือไม่ อย่างไร มีการวัดผลเป็นระยะๆ ว่า สิ่งที่นำนั้นนำไปสู่เป้าหมายมากน้อยแค่ไหน

สามารถดาวน์โหลดเครื่องมือได้ที่นี่
Theory of Change ขั้นต้น (สำหรับโครงการเล็กๆ ไม่ซ้ำซ้อน เด็กนักเรียน นักศึกษา)
Theory of Change ขั้นแอดวานซ์ (สำหรับโครงการใหญ่ ซับซ้อน มีกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า ที่ต่างกัน)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- Mapping Change : Using Theory of Change to Guide Planning and Evaluation https://learningforfunders.candid.org/wp-content/uploads/sites/2/2018/12/theory_change.pdf
- Theory of Change
https://unsdg.un.org/sites/default/files/UNDG-UNDAF-Companion-Pieces-7-Theory-of-Change.pdf - Understanding Theory of Change in International Development https://www.theoryofchange.org/wp-content/uploads/toco_library/pdf/UNDERSTANDINGTHEORYOFChangeSteinValtersPN.pdf
- Theories and Indicators of Change Briefing Paper
https://pdf.usaid.gov/pdf_docs/pnaed181.pdf