สุขภาพจิตวัยรุ่น ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

Insights สุขภาพจิตเด็กวัยรุ่น

Insights หรือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพจิตวัยรุ่นในบทความนี้ มาจากผู้ร่วมเรียนรู้ในกระบวนการทำความเข้าใจปัญหาเชิงลึกโดยใช้เครื่องมือ Insights Tools ของ ​Insights for Change โดยใช้รูปแบบการสัมภาษณ์ พูดคุยเชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล รวมไปถึงประสบการณ์ตรงที่ได้จากการทำงาน เรียกได้ว่าเป็น Collective Insights ที่มาจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย ต่างมุมมอง สังเกตปรากฏการณ์ในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น โจทย์ความท้าทายที่สนใจ persona ของกลุ่มเป้าหมาย ประสบการณ์ของผู้สัมภาษณ์ในการถาม-สังเคราะห์ข้อมูล 

หากผู้อ่านสนใจประเด็นสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ข้อมูลเชิงลึกนี้สามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นเพื่อแนวทางในการทำความเข้าใจปัญหาเชิงลึกในบริบทที่ตนเองสนใจต่อไป 

Our contributors 

อาสาสมัครโค้ชจู๊ด นพ. จิระวุฒิ กลับนวล ประจำทีม Anonymity และสมาชิกทีมซึ่งเป็น 1 ใน 12 ทีมที่ได้รับรางวัล Mental Health Insight Awards ในโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมสุขภาพจิตระยะสั้น ภายใต้ความร่วมมือของ Insights for Change และ MIND LAB  กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต 

น้อง ๆ ในโครงการ Insight Tanks for Young ESG Innovator (YESGI)  ที่ School of Changmakers ร่วมมือกับ SCG Foundation เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจมาทำความเข้าใจปัญหาสังคมในประเด็นที่สนใจ

กัญจน์ ธนัชพร ภูติยานันต์ นักศึกษาป.โท ด้านจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับฟังจาก SATI App จากประสบการณ์จัด workshop ค้นหาตนเองของเด็ก ม.ปลาย จำนวน 10 และ 9 คน มา 2 ครั้ง ให้กับ MindVentuer กิจการเพื่อสังคมที่อยากเห็นวัยรุ่นไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น และประสบการณ์การเป็นอาสาให้ SATI App

ข้อค้นพบในประเด็นสุขภาพจิตวัยรุ่น มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

1. วัยรุ่นขาดความเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเอง
2. ความเครียดที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก
3. การกลั่นแกล้งในสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
4. การเข้าถึงการให้คำปรึกษา ทั้งคนใกล้ตัวและบริการให้คำปรึกษามืออาชีพ



1. ข้อค้นพบเกี่ยวกับการขาดความเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเองของวัยรุ่น 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเคารพและการเห็นคุณค่าในตัวเอง ได้แก่ 

1.1 สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน เปรียบเทียบ โดยเฉพาะสังคมไทยที่มองการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเรื่องเรียน ที่ให้คุณค่ากับความเก่งวิชาการ รูปลักษณ์ หน้าตา จนเป็นความเคยชินที่เราคิดว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่ง “ปกติ”

น้อง ๆ บางคนรู้สึกกดดันกับ trend ในสังคมปัจจุบัน รู้สึกเป็นกังวลต่อความมั่นคงทางอาชีพ ว่าตนเองจะยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่ ด้วยความไม่มั่นคงจากสถานการณ์ช่วง Covid-19 และความก้าวหน้าของ AI ทำให้รู้สึกว่าตัวเองต้องเก่งอยู่ตลอดเวลา

1.2 การเลี้ยงดูของครอบครัว ที่ใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และควบคุม ขาดการสื่อสารที่ดี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตนเอง

ครูเชน คุณครูโรงเรียนมัธยมที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวพบว่า ผู้ปกครองขาดความรู้เรื่องการจัดการปัญหาของบุตรหลาน ใช้ความรู้เดิมของตนในการจัดการปัญหา เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จตามความคาดหวัง กลายเป็นความกังวล ความกังวลสะสมกลายเป็นความเครียด ส่งผลให้เกิดการรวบรัดใช้อำนาจ เพื่อให้ปัญหายุติ ซึ่งส่งผลต่อทั้งตนเองในเชิงความมั่นใจ สภาพจิตใจ และความสัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อเด็ก เกิดปัญหาพฤติกรรมการจัดการปัญหา การจัดการตนเอง และการเข้าสังคมตามมา

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะช่วยให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณค่าในตนเองของบุตรหลาน จนมีทักษะที่ชํานาญพอที่จะสร้างวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง และมองเห็นผลกระทบที่ตัวเองเลือกวิธีจัดการปัญหา – เชน คเชนทร์

น้องหลายคนสับสนในตนเองเพราะบุคคลภายนอก เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ บอก solution มากเกินไปว่าน้อง ๆ เหมาะกับอะไร (บางครั้งบอกแทนด้วยว่าน้องน่าจะชอบอะไร) จนไม่ชัดเจนกับเสียงที่อยู่ภายใน สังเกตได้จากสถานการณ์ เช่น น้องบางคนรู้แต่ว่าตัวเองถนัดอะไร เพราะทำได้ ได้รับคำชม แต่พอถามว่าชอบอะไรกลับไม่รู้เลย เพราะนึกออกแต่คำแนะนำของคนรอบตัว

“จะทำอย่างไรให้เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอาชีพ เพื่อนำข้อมูลมาตอบพ่อแม่ สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองว่าต้องการทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขจริง ๆ


2. ข้อค้นพบเกี่ยวกับความเครียด

ปัจจัยความเครียดที่ค้นพบจากการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเชิงลึก แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก

2.1 ปัจจัยภายใน ที่ส่งผลต่อความเครียด คือ การกดดันตัวเอง เหตุมาจากกลัวพ่อแม่ผิดหวัง กลัวโดนดุด่า โดยจากการเก็บข้อมูลของสกาย สุกัญญา พบว่า เด็กวัยรุ่นคิดว่าสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองและสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากความเครียดของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เมื่อเจอบางเหตุการณ์ที่แก้ไม่ได้ ก็กดดันตัวเอง 

น้อง ๆ บางคนมีทัศนคติมองว่าต้องทำให้พ่อแม่พึงพอใจ ชีวิตจึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ โดยลืมไปว่าพ่อกับแม่ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด หากแต่เป็นตัวเองที่ต้องอยู่ไปจนตาย  แต่ก็ยังมองความคาดหวังของพ่อแม่ มีน้ำหนักมากกว่าความชอบ ความต้องการของตนเอง

เมื่อสาเหตุของความเครียดมาจากคนใกล้ตัว คนในครอบครัว หรือถูกเพื่อน bully ทำให้ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร หลายครั้งปัญหานี้ นำไปสู่การทำร้ายตัวเองในที่สุด (ข้อมูลจากมะมาย เพชรนรี , ไข่มุก นภัสสร) 

  • คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่ว่าไม่มีคนให้ปรึกษาแต่เขาต้องการปรึกษาเฉพาะบางคน เช่นคนซึมเศร้าเหมือนกัน
  • คนที่มีปัญหาซึมเศร้า มักจะปรึกษากันเองมากกว่า ในหลายเคสมักจัดการปัญหาได้ไม่เหมาะสม แต่ในอีกหลายๆเคสก็มีการแนะนำให้มารักษาที่ รพ หรือแนะนำได้ดี
  • เด็กนักเรียน ม.ปลาย ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายและความเครียดแตกต่างกัน อาจไม่มีเครื่องมือหรือทางออกใดที่ดีที่สุดเพียงอันเดียว

    “เราจะช่วยแก้ไขปัญหาของนักเรียนม.ปลายที่เป็นซึมเศร้า ที่ไม่มีคนให้คำปรึกษา และต้องการคำปรึกษาจากคนที่เข้าอกเข้าใจ ซึ่งคือคนที่เป็นซึมเศร้าด้วยกันเอง เพราะเขามีความเข้าอกเข้าใจกันมากกว่า
    จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะมีพื้นที่ให้คนซึมเศร้าได้มาปรึกษากันได้อย่างเหมาะสม” – ทีม Anonymity

2.2 ปัจจัยภายนอก

  • ความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้คนรอบข้าง ที่นำไปสู่พื้นที่ปลอดภัยและไว้วางใจ

น้อง ๆ หลายคนรู้ลึก ๆ รู้ตัวเองว่าชอบอะไร แม้กระทั่งรู้ว่าอยากประกอบอะไรอาชีพอะไร  ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รู้จักตัวเอง แต่อยู่ที่การพูดคุยกับพ่อแม่ หรือการจัดการความเป็นห่วงของคนรอบตัวไม่ได้ ว่าอาชีพที่จะทำ หรือ สายที่จะเรียน ทำไมมันถึงไม่ได้ด้อยค่า หรือ มั่นคงน้อยไปกว่าอาชีพ หมอ วิศวะ

  • จากประสบการณ์ส่วนตัว อาสาดูแลเด็กมูลนิธิ 8 คน เด็กอยู่กับแค่ผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง แค่กับพ่อหรือแม่ หรือกับญาติเท่านั้น และความสัมพันธ์กับคนที่อยู่ด้วยก็มักเป็นไปในทางทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจไม่รับฟังกัน
  • ขาดคนสนิท คนที่ไว้ใจ มีทีมสนับสนุนน้อย คนคอยช่วยเหลือที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม่มีเพื่อนที่ไว้ใจได้ ไม่ไว้วางใจครูเพราะคิดว่าครูลำเอียง พูดคุยกับคนที่บ้านไม่ได้ มีแฟนที่รับฟังได้ทางออนไลน์เพราะอยู่กันละจังหวัด 
  • ครูประจำชั้นมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลเด็กกรณีมีปัญหาสุขภาพจิต ครูมีทักษะในการสังเกตพฤติกรรมเด็กที่มีแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ขาดความมั่นใจในการตัดสินใจลงมือทำ หรือขาดการส่งต่อข้อมูลอย่างต่อเนื่องอาจเนื่องด้วยภาระงานมากและจำนวนนักเรียนมากเกินไป 
  • เด็กมัธยมต้องการบริการที่เข้าถึงได้ง่ายเร็ว เป็นความลับและต้องการพื้นที่ปลอดภัย (Comfort zone) และความสบายใจ มากกว่าการอยู่คนเดียว หากต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัย จะรู้สึกโดดเดี่ยว
  • สถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ
  • การเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งมาจากการขาดความเข้าใจเรื่องการเตรียมตัว และคนช่วยแนะแนว เมื่อเรียนไม่ทันผลสอบไม่ดี ทำให้เกิดความเครียด ความกดดันจากคนรอบตัวที่ไม่เข้าใจ
    ความเครียดที่เกิดจากความกังวลเกี่ยวกับชีวิตหลังเรียนจบ (post-graduate blues) (ป้อน ญาตาวี) 
  • การที่คนรอบข้างปฏิบัติต่อเด็กอย่างผิดวิธี เช่น เมื่อเกิดสถานการณ์ตามดังกล่าว  พูดจารุนแรง กล่าวโทษ เปรียบเทียบ กดดัน มองข้ามถึงปัญหาที่แท้จริง ไปมองถึงปัจจัยอื่นๆ ว่า มีแฟนเลยทําให้การเรียนตก ไม่สนใจการเรียนมากพอ ไม่ใส่ใจ ในการเรียน ไม่ตั้งใจเรียนในห้อง (กล้วยไม้ ณัฐชนันท์)
  • บางคนเจอปัญหาครอบครัวแตกแยก ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองไม่ดี เมื่อมีปัญหาจึงปรึกษาใครไม่ได้ คิดว่าถ้าทำร้ายตัวเองอาจเป็นทางออกที่ดี เหมือนได้ระบายอารมณ์ เช่น กรีดข้อมือ เอาหัวชนฝาผนัง ทึ้งผมแรงๆ เป็นต้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถหลุดออกมาได้ หากโชคดีก็จะนึกได้ว่าสามารถปรึกษาใครได้บ้าง เช่น ไปปรึกษาครูที่โรงเรียน ครูประเมินอาการแล้วจึงติดต่อผู้ปกครองเพื่อพาไปพบจิตแพทย์ จึงได้รับการรักษาตามขั้นตอน และดีขึ้นตามลำดับ  “แม้จะมีวิธีอีกเยอะที่ช่วยให้ระบายความเครียดได้ แต่เพื่อนก็เลือกที่จะทำร้ายตัวเอง เพราะทำได้ง่าย ใกล้ตัว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา ขอแค่ผ่านสถานการณ์นี้ไปก่อน” (มะมาย เพชรนรี)
  • ดรีม ชลิตา นักเรียน Insight Tanks for YESGI เล่าให้ทีมงานฟังว่า มีช่วงนึงดรีมประสบปัญหานี้มากับตัว เลยรู้สึกว่ายังมีอีกหลายคนที่เจอเหมือนตัวเองอยู่ ถูกคาดหวังจากที่บ้าน หรืออยู่กับเพื่อนแล้วคำพูดของเพื่อนส่งผลทำให้กดดัน บางทีผู้ปกครองเขาหวังดี จนบางทีมันมากดดัน “ เวลาเครียด อารมณ์จะดิ่งมาก ทุกอย่างเป็นสีเทา เกิดคำถามว่า เราเกิดมาทำไม ไม่อยากทำอะไรเลย รู้สึกแย่กับตัวเองทุกอย่าง ทั้งตัวเองและเพื่อนต่างมีอาการคล้ายกัน มองโลกในแง่ร้ายทั้งหมด บางคนก็ไม่สนใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับโลก จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน” 

    เมื่อเพื่อนมาปรึกษา แต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน มีวิธีแก้ไขที่แตกต่างกัน วัยรุ่นคนนึงที่กว่าจะไปสู่ stage ของโรคซึมเศร้าได้ แปลว่าสังคมรอบข้างเขาหล่อหลอมเขามา ทำให้สะสมมาเรื่อยๆ ถ้าผู้ปกครองเข้าใจได้ว่าพฤติกรรมของเขามันส่งผลต่อลูกได้ ถ้าเขาเข้าใจและหาแนวทางร่วมกัน คอยรับฟังและคอยซัพพอร์ต หรือบางคนเจอความเครียดจากภายนอก ถ้าผู้ปกครองคอยรับฟังและซัพพอร์ต สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญสิ่งนึงเลย

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะช่วยให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความเครียดและความกดดันของนักศึกษาและอย่าคาดหวัง เพื่อให้นักศึกษาสามารถระบายความเครียดได้ ลดความเครียดลงได้ และมีคนคอย support” ดรีม ชลิตา


3. ข้อค้นพบเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อน หรือติดเพื่อน เป็นช่วงชีวิตที่มีปัญหาการโดน bully และการถูก ban จากกลุ่ม ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อความคิดฆ่าตัวตาย → ต้องการการรับฟัง การยอมรับ พื้นที่ที่สามารถเป็นตนเองได้ และกิจกรรมที่ทำเพื่อไม่ให้คิดฟุ้งซ่านถึงการทำร้ายตนเองหรือการคิดฆ่าตัวตาย 

  • วงจรอุบาทว์ของการ​ Bully  เมื่อเด็กโดน bully หลายคนเลือกที่จะเก็บความเครียดไว้คนเดียว ไม่กล้าปรึกษาใคร หนักเข้าคือ ไม่อยากไปโรงเรียน ทำให้ผลการเรียนแย่ลง เพิ่มความเครียดเรื่องเรียนเข้าไปอีก เพราะกลัวว่าครอบครัวจะผิดหวัง เมื่อแบกรับความเครียดหลายอย่างพร้อมกัน จึงมีความคิดอยากทําร้ายตัวเอง (ไข่มุก นภัสสร) 
  • บางคนเมื่อถูกบูลลี่แล้วสูญเสียความมั่นใจทั้งหมดไป ในขณะเดียวกันบางคนก็ใช้ชีวิตต่อไปเพื่อเอาชนะคนที่บูลลี่เขา ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องดีกว่า เก่งกว่า และเอาชนะด้วยความรู้สึกเคียดแค้นเสมอ ทำให้บางครั้งเขาไม่ได้มีความสุขในการใช้ชีวิตเลย (มิ้นท์ ชุติกาญจน์ ) 
  • เมื่อแกนนําในกลุ่มเริ่มบูลลี่คนใดคนหนึ่ง ทําให้ทุกคนไม่กล้าเป็นเพื่อนกับคนที่ถูกบูลลี่เพราะกลัวจะโดนด้วย จึงไม่มีใครช่วยเหลือและปล่อยให้คนถูกกระทําโดดเดี่ยว (มิ้นท์ ชุติกาญจน์)  เพื่อน ๆ เลือกที่จะถอยห่างจากคนที่ถูกรังแกเพราะไม่อยากโดนแกล้งเหมือนกัน (ใบบุญ ณภัทร) 
  • จากมุมของคนที่ Bully คนอื่น คิดว่าการบูลลี่เป็นเรื่องปกติ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ แค่แซว ไม่ได้มีเจตนาจะทําให้คนอื่นรู้สึกแย่และเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่ทําได้ไม่ผิดอะไร หลายครั้งคนที่ถูกกระทำมาก่อนจะกระทำกับคนอื่นต่อ เพราะคิดว่าตนเองเคยโดนมาแบบนี้ คนอื่นที่ด้อยกว่าก็สมควรโดนเหมือนกัน (มิ้นท์ ชุติกาญจน์) 

“ทุกคนที่ถูกบูลลี่ เกิดคำถามในใจเสมอว่า ‘ฉันผิดอะไร ฉันทำอะไรให้เธอ’ ‘ทั้งที่ไม่เคยทำไม่ดีกับใครเลย แต่ทำไมจู่ๆเขาถึงไม่ชอบเรา’ กว่าจะก้าวผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ บางคนต้องรอให้เวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น ถูกกระทำขณะอยู่ ม.4 ต้องรอให้เรียนจบและมีชีวิตใหม่ในมหาวิทยาลัย จึงก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้นได้ บางคนผ่านไปไม่ได้ต้องลาออกจากโรงเรียน บางคนก็เป็นไปตามข่าวที่เราเห็น (ฆ่าตัวตาย)…เวลาเรามาโรงเรียน คิดแค่เรื่องเรียนก็เต็มสมองแล้ว แต่เพื่อนที่ถูกกระทำกลับต้องแบกความรู้สึกแย่ ๆ นี้ไว้ด้วย บางคนที่สัมภาษณ์ พื้นฐานครอบครัวก็ไม่ดี ยังต้องมาเจอเพื่อนที่ไม่ดีอีก แม้ภายนอกเขาดูร่าเริงแจ่มใส แต่แท้จริงแล้วภายในเขาแตกหักมาก…”

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันให้ตั้งแต่วัยก่อนที่จะเป็นเยาวชน


4. ข้อค้นพบเกี่ยวกับการเข้าถึงการให้คำปรึกษา

อย่างที่เราทราบดีว่า ในบริบทของวัยรุ่น เด็กนักเรียน นักศึกษา การเข้าถึงคำปรึกษาดูจะเป็นเรื่องยาก ทั้งการขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัว เช่นครอบครัว เพื่อน หรือ จากผู้เชี่ยวชาญ ด้วยหลายเหตุ ปัจจัย เช่น

4.1 ความไม่กล้า ไม่กล้าที่จะเข้ารักษากับจิตแพทย์ 

ไม่กล้าที่จะปรึกษาคนในครอบครัว คนรอบตัว ส่งผลให้เกิดความเครียด ความกังวล นำไปสู่ปัญหาทั้งร่างกาย ทางจิตใจ และทาง พฤติกรรม เช่น เครียดจนนอนไม่หลับ กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง ทำให้เก็บปัญหาเอาไว้คนเดียว (กล้วยไม้ ณัฐชนันท์)

4.2 ความไม่รู้ 

  • เยาวชนมักไม่รู้ตัวว่ามีภาวะซึมเศร้า และไม่รู้จักวิธีการรับมือ  (ออม รุ่งอรุณ)
  • ความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย (ทั้งที่บางโรงเรียน มหาวิทยาลัย มีการให้บริการฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย) (นิว กัญญารัตน์)
  • ไม่รู้ช่องทางการติดต่อขอคําปรึกษาด้านนี้  (อิ้ง ภูริชญ)
  • คนใกล้ตัว ครอบครัวและเพื่อนไม่พร้อมจะรับฟัง 
  • คนใกล้ตัวไม่รู้วิธีการรับมือ ขาดความรู้ เลยไม่รู้จะช่วยอย่างไรดี (ออม รุ่งอรุณ)

  • เด็กมัธยม ขาดความรู้เรื่องความเครียด โรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิต ไม่มีทักษะในการจัดการความเครียดอย่างถูกต้องเหมาะสม  
  • เด็กมีความสนใจอยากรู้ปัญหาสุขภาพของตนเอง หรือต้องการวิธีแก้ปัญหาชีวิตตนเอง โดยเลือกใช้วิธีการสอบถามข้อมูลจากแหล่งออนไลน์ “พูดคุย และให้คำปรึกษากันเองจากผู้ที่มีประสบการณ์เหมือนกัน” โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงขาดทักษะในการวิเคราะห์ใคร่ครวญข้อมูลที่สำคัญ ทำให้เกิดการหลงเชื่อและทำตามได้ง่าย เช่น พฤติกรรมเลียนแบบการกรีดข้อมือเพราะคำแนะนำบอกว่าช่วยระบายความเครียด
  • ค้นพบว่าขาดการสื่อสารประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัวจากผู้ปกครอง ญาติ เด็ก กับครูและโรงเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อคัดกรองและเตรียมพร้อมสำหรับให้การช่วยเหลือ

4.3 ความไม่เข้าใจ

  • เด็กหลายคนเจอคําพูดจากคนรอบข้างว่าการที่เด็กทําตัวแบบนี้ (มีปัญหาสุขภาพจิต) เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ (แพรว เขมรินทร์)
  • หลายคนคิดว่าอาการซึมเศร้า สามารถรักษาได้ง่าย หรือเป็นโรคของคนที่เรียกร้องความสนใจ ไม่ร้ายแรง ทําให้ปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร (วิว ภัทรมน)

4.4 ความไม่เชื่อ

  • ความเชื่อของคนในสังคมบางส่วนที่เชื่อว่า การไปหาหมอคือเป็นบ้า  (ฝ้าย สุวพิชญ์)
  • “เพื่อนคนนึงที่ร่าเริงไม่น่าเชื่อว่าจะมีปัญหา แต่พอเราสังเกตเห็นว่าเขาหน้าเครียดๆ เราก็ลองถาม ค่อยๆทำให้เขาเชื่อใจที่จะเล่า จึงรู้ว่าปัญหาของเขาคือปัญหาครอบครัว พ่อแม่แยกทาง พ่อทำงาน ต้องดูแลน้องคนเดียว เขารู้สึกว่าเขาอายุแค่ 18 ปีทำไมต้องรับภาระ  รวมถึงเรื่องการเรียน ที่เรียนไม่ทัน หมดไฟในการเรียน เมื่อจะปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง กลับได้รับคำตอบว่า ‘ปัญหาแค่นี้เอง โตมาจะเจออะไรมากกว่านี้อีก’ เขาก็น้อยใจ ส่วนเพื่อน การปรึกษาเป็นเหมือนการระบายเฉย ๆ มีทางแก้บ้างเล็กน้อย แต่ช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะกลับบ้านก็ยังเจอสถานการณ์เดิมของครอบครัวที่เป็นสาเหตุอยู่
  • ในการเข้าถึงนักจิตวิทยาในสังคมของเขาค่อนข้างยาก เพราะเขารู้สึกว่าต้องสนิทจริง ๆ เท่านั้น เขาถึงจะระบายให้ฟัง ประกอบกับสังคมชนบทที่ พอเด็กทำตัวซึมหรือเงียบไป ก็จะมีคนบอกว่าเด็กเรียกร้องความสนใจ เขาจึงไม่อยากปรึกษาใคร” (แพรว เขมรินทร์) 

ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากโค้ชจู๊ด

1. กลุ่มเป้าหมายเด็กมัธยมที่มีความเครียดแต่ยังไม่ได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า หรือผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยโรคประจำตัว เนื่องจากกลัวการตัดสิน bully จะให้ข้อมูลที่เป็น insight แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร 
2. ปัญหาสุขภาพจิตเด็กนักเรียนมักมาจากหลายปัจจัยรอบตัวตั้งแต่เล็กที่สุดอย่างครอบครัวไปจนถึงสังคม แนวทางดูแลจัดการที่ผ่านมามักมุ่งเน้นไปที่พัฒนาตัวเด็กให้มีสุขภาพใจที่แข็งแรง สามารถจัดการด้วยตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะเผชิญปัญหา แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกปัจจัยรอบตัวเด็กได้
หากเรามองปัญหาสุขภาพจิต เหมือนการติดเชื้อโรค การมีเชื้อโรคจำนวนมากและรุนแรงมาก วัคซีนภูมิคุ้มกันอย่างเดียวนั้นก็ไม่เพียงพอจะป้องกันให้เกิดโรค
3. ปัญหาสุขภาพจิตเด็กมัธยม โดยเฉพาะมัธยมปลาย เป็นปัญหาเรื้อรังและดูเหมือนจะไม่สามารถค้นหาต้นตอของปัญหาได้ถูกต้องชัดเจน ข้อสังเกตจากการสังเคราะห์ข้อมูลกับกลุ่ม Anonymity คือ เด็กมีปัญหาสื่อสารไม่ดีกับที่บ้าน ปัญหาต้องการความรักจากพ่อแม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้วและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จนพัฒนากลายเป็นปัญหาเรื้อรังและเชื่อมโยงซับซ้อน การเริ่มต้นป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในอายุที่น้อยลงจะมีส่วนช่วยลดปัญหาในอนาคตได้หรือไม่
4. ทักษะที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน คือ การตระหนักรู้ในตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลได้ และสุดท้ายการสื่อสารและร้องขอความช่วยเหลือ 
5. การเชื่อมโยงเครือข่ายทีมชีวิตของตนเองได้มากช่วยให้อยู่รอดในสังคมได้มากขึ้น เหมือนมีทีมสนับสนุนที่หลากหลายช่วยเหลือยามเผชิญปัญหา เช่น เพื่อนคนนี้ยืมเงินได้ เพื่อนคนนี้ยืมรถได้ คุณลุงคนนี้ให้คำแนะนำเรื่องชีวิตที่ดี หลวงพี่ทำให้สงบและผ่อนคลายได้ เป็นต้น
6. การสื่อสารประเด็นปัญหาสุขภาพจิตโดยเข้าใจบริบทของเด็ก บ้าน โรงเรียน ควรเริ่มจากผู้ประสบปัญหา ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง-โดยอ้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ปัจจัยส่งเสริม ปัจจัยขัดขวาง ควรรวบรวมข้อมูลทำเป็นแผนภาพ systems thinking หรือ mind map