Insights ผู้ดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต จากทีม SIMPLE

การดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้นผู้ที่มีบทบาทในการดูแลและรักษาไม่ได้มีเพียงบุคลากรทางการแพทย์ แต่ครอบครัวของเด็กและระบบสนับสนุนอื่น ๆ มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ดังที่ทีม SIMPLE ซึ่งเป็น 1 ใน 12 ทีมที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมสุขภาพจิตระยะสั้น จัดโดย Insights for Change ร่วมกับ MIND LAB กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้ค้นพบว่าสำหรับหลาย ๆ ครอบครัว การดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจไม่ง่าย เนื่องจากครอบครัวเหล่านี้ มีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น ข้อจำกัดด้านการเงิน ผู้สูงอายุต้องดูแลเด็กเพียงลำพัง และอาจมีภาระในการดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอีกด้วย รวมไปถึงโรงเรียนและสถานศึกษาที่อยู่ใกล้บ้านไม่พร้อมดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการดูแลเด็กให้มีพัฒนาการตามวัยได้ไม่เต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนี้ สมาชิกครอบครัว โรงเรียน โรงพยาบาล และชุมชนจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กมากขึ้น ร่วมกับการสร้างระบบสนับสนุนที่เหมาะสม จะช่วยลดอุปสรรคในการดูแลเด็ก และช่วยให้ผู้ที่ดูแลเด็กดูแลได้ดีขึ้น ส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน 

เกี่ยวกับทีม SIMPLE

ทีม SIMPLE ได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมสุขภาพจิตระยะสั้น และเป็น 1 ใน 3 ทีมที่ได้รับรางวัล The Best Mental Health Insight Award 2023 สมาชิกทีม SIMPLE ทั้ง 5 คนเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการสุขภาพจิตในบทบาทต่างๆ ได้แก่ 

แป้งหอม นักจิตวิทยาคลินิก และทำงานในทีมสุขภาพจิตโรงเรียน 
มุก นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
เกด นักสังคมสงเคราะห์
เดียร์ นักเวชสถิติ
ต้น นักจิตวิทยา
และ โค้ชโอม-ชินภัทร วีระวรรณ เป็นโค้ชประจำทีม

เริ่มต้นความสนใจเกิดจากสมาชิกในทีมทุกคนทำงานกับเด็กเหมือนกัน และเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุที่ต้องดูแลเด็กพิเศษ ทีมจึงเลือกประเด็นปัญหาที่สนใจเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ดูแลหลักของเด็กพิเศษ” และได้ค้นพบ Insights ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสนับสนุนทางสังคมในการดูแลเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต โดยใช้เครื่องมือและกระบวนการ Insights Tools ที่ได้จากโครงการ

เส้นทางการค้นพบ Insights ของทีม SIMPLE 

ในตอนแรก ทีมมีประสบการณ์และสนใจโจทย์เกี่ยวกับ….

“ความเหนื่อยล้าของผู้สูงอายุที่เป็นคนเลี้ยงดูเด็กออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder – ASD) ที่ส่งต่อข้อมูลการดูแลเด็กให้โรงเรียนไม่ครบถ้วน (ข้อมูลการดูแลเด็กที่จำเป็นต้องส่งต่อให้โรงเรียน เช่น วิธีการจัดการพฤติกรรมของเด็กออทิสติก การตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งผู้ปกครองที่อาจยังไม่เข้าใจประเด็นข้างต้น จะไม่สามารถส่งต่อข้อมูลให้โรงเรียนได้ครบถ้วน) เนื่องจากยังไม่เข้าใจวิธีการดูแลเด็ก รวมทั้งประสิทธิภาพในการสื่อสารของผู้สูงอายุที่คิดได้ช้าลง รับสารน้อยลง หลงลืมหรือไม่รู้หนังสือ ทำให้ครูได้รับข้อมูลในการดูแลเด็กไม่ครบ ส่งผลให้ผู้สูงอายุถูกเรียกให้มารับเด็กที่ครูไม่สามารถจัดการพฤติกรรมได้กลับบ้านก่อนเวลา”

โดยลักษณะเด่นของเด็กออทิสติก คือ  มีปัญหาในการสื่อสาร ปรับตัวยาก ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ มักประเมินสถานการณ์ไม่ถูก มีปัญหาพฤติกรรม เช่น เล่นเสียง โวยวายเมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย

หลังจากทบทวนโจทย์ตามคำแนะนำของโค้ชแล้ว พบว่าโจทย์นี้แคบเกินไปเพราะโฟกัสอยู่ที่โรงเรียน ทั้งยังมีข้อมูลบางจุดที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นจริงหรือไม่ และมี solution แฝงอยู่ในโจทย์ ทีมจึงปรับโจทย์ใหม่ เป็น  “ความเหนื่อยล้าของผู้สูงอายุที่เป็นผู้ดูแลหลักของเด็กออทิสติก” แทน

ทีมได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสัมภาษณ์ผู้สูงอายุดูแลหลานที่เป็นออทิสติกทั้งหมด 3 เคส 
เคสที่หนึ่ง ยายอายุ 67 ปี ขายหมูปิ้ง มีรายได้ประมาณ 300 บาท/วัน ดูแลหลานอายุ 10 ขวบ หลานเรียนอยู่โรงเรียนประถมธรรมดา 
เคสที่สอง ยายอายุ 60 ปี ค้าขายและรับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่แน่นอนแต่มีเงินเก็บอยู่บ้าง ดูแลหลานอายุ 5 ขวบ และยังไม่เข้าโรงเรียน
เคสที่สาม ยายอายุ 60 ปี เปิดร้านขายของชำ มีรายได้ประมาณ 500 บาท/วัน หลานอายุ 6 ขวบ เรียนโรงเรียนเฉพาะทาง


จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ 3 เคสนี้ ทีมพบข้อมูลที่ทำให้ประหลาดใจว่า จริง ๆ แล้ว ผู้สูงอายุไม่ได้รู้สึกเหนื่อยล้าจากการดูแลเด็กออทิสติกเลย มีเพียงแค่ความเหนื่อยที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น กลับกันพวกเขามีความสุขที่ได้อยู่กับหลาน แต่สิ่งที่ทำให้เหนื่อยมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ได้แก่

  1. ปัญหาสถานะและสมาชิกในครอบครัว

ทั้งสามบ้านเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่ผู้สูงอายุถูกลูกทอดทิ้ง เนื่องจากลูกติดคุก หรือเสียชีวิตไปแล้ว บางบ้านลูกสาวท้องแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็ก เมื่อคลอดลูกแล้วก็พาลูกมาให้ผู้สูงอายุเป็นคนเลี้ยงแทนและตัดขาดจากครอบครัวไป  ผู้สูงอายุจึงต้องรับภาระเลี้ยงหลานที่เป็นออทิสติกเพียงลำพัง นอกจากนี้ในสองเคสที่ทีมได้ไปสัมภาษณ์ ผู้สูงอายุต้องดูแลทั้งหลานและสมาชิกครอบครัวคนอื่นที่ป่วยอีกด้วย 

ในเคสที่สอง ยายต้องดูแลตาที่ป่วยเป็นโรคไต ซึ่งช่วงนั้นสิทธิบัตรทองยังใช้กับการฟอกไตไม่ได้ (เพิ่งใช้ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) ยายจึงต้องจ่ายค่าฟอกไตเอง 1,500 บาทต่อครั้งซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากสำหรับยาย

ส่วนเคสที่สาม ตาป่วยติดเตียงและต้องฟอกไตเช่นกัน โดยที่ยายเป็นคนฟอกไตให้ตาเองวันละ 5 ครั้ง พร้อมกับต้องขายของไปด้วย ดูแลหลานที่เป็นออทิสติกไปด้วย 

ผู้สูงอายุจึงเหนื่อยและมีความเครียดทั้งจากการดูแลหลานและดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัวเพียงลำพัง อย่างไรก็ตาม บางบ้านอาจโชคดีมีเพื่อนบ้านช่วยดูแลหลาน พาไปเที่ยวข้างนอก และให้เงินใช้บ้าง

2. ปัญหาทางการเงิน

ผู้สูงอายุทั้งสามบ้านเป็นคนหลักที่หารายได้เลี้ยงครอบครัวเพราะไม่มีคนวัยทำงานอยู่ในครอบครัว และเลี้ยงหลานเพียงลำพัง โดยมีรายได้จากการทำงานรับจ้างหรือขายของ เช่น ขายน้ำ ขายหมูปิ้ง ขายของชำ ได้รายได้เป็นรายวันเป็นจำนวนเงินไม่เยอะนัก 

เงินจำนวนนี้ถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับหลานบ้าง ให้หลานเอาไปโรงเรียนบ้าง และเป็นเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ในบางครั้งได้รายได้มา 300 บาทก็มีรายจ่าย 300 บาทเท่ากัน หากเงินไม่พอใช้ บางครั้งหลานที่เป็นออทิสติกจะเป็นคนชวนยายไปรับของบริจาค (เพราะหลานจะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่คิดมากและไม่อายที่จะรับของบริจาค) หรือมีหลวงตาที่วัดแบ่งอาหารให้ 

ผู้สูงอายุยังกู้เงินนอกระบบเพื่อนำเงินมาใช้อีกด้วย เนื่องจากไม่กล้าติดต่อกับราชการ และไม่รู้ขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือ

ปัญหาทางการเงินนี้ส่งผลกระทบต่อการรักษาหลาน เมื่อเงินไม่พอใช้ ก็ไม่สามารถพาหลานไปรับการรักษาและฝึกที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งเด็กออทิสติกจำเป็นต้องได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องกับนักจิตวิทยาและนักวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น นักฝึกพูด นักกิจกรรมบำบัด ที่โรงพยาบาล โดยเป็นการฝึกพัฒนาการ เช่น การฝึกพูด การทำกิจวัตรประจำวัน ทักษะในการเข้าสังคม หากไม่ได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อพัฒนาการและทำให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ยาก

3. ปัญหาทางการศึกษา 

สำหรับเด็กออทิสติก การหาโรงเรียนที่พร้อมรับเด็ก มีครูที่เข้าใจและใส่ใจในการดูแลเป็นเรื่องยาก ซึ่งเคสที่ทีมไปสัมภาษณ์ก็พบปัญหานี้เช่นกัน 

ในเคสที่สอง เมื่อยายหาโรงเรียนให้หลาน พบว่าด้วยความที่หลานอยู่ไม่นิ่ง จึงไม่มีโรงเรียนใกล้บ้านที่พร้อมดูแลหลาน ส่วนโรงเรียนที่พร้อมดูแลก็อยู่ไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง 

ส่วนเคสที่สาม ยายเคยให้หลานเรียนที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน เป็นโรงเรียนไปกลับ แต่ครูไม่ได้ใส่ใจในการดูแลเด็กนัก ทำให้หลานไม่ค่อยมีพัฒนาการ นอกจากนี้ยายยังเครียดจากการดูแลหลานให้พร้อมไปโรงเรียนทันเวลารถโรงเรียนมารับอีกด้วย ต่อมาเมื่อหลานย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นโรงเรียนเฉพาะทางที่เหมาะกับหลาน หลานก็มีพัฒนาการหลายอย่างดีขึ้น เช่น สามารถเขียนหนังสือให้อยู่ในเส้นบรรทัดได้ แต่ก็แลกมากับการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางไปรับ-ส่งหลาน 

สำหรับเคสแรก แม้ว่าหลานจะเรียนโรงเรียนประถมทั่วไป แต่โชคดีที่มีครูที่เข้าใจ และสอนเสริมให้ตอนเย็น ทำให้สามารถเรียนที่โรงเรียนได้

ดังนั้น ในด้านของการศึกษาของเด็กที่เป็นออทิสติก ต้องการโรงเรียนที่พร้อมดูแลเด็กกลุ่มนี้ แต่ในปัจจุบันยังมีโรงเรียนไม่มากนักที่มีความพร้อมดูแล มีครูที่มีทักษะและเข้าใจเด็กออทิสติก ตลอดจนมีการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะรายบุคคลไปใช้ในโรงเรียน หรือหากมีโรงเรียนที่มีความพร้อมดูแลเด็กกลุ่มนี้ ก็มีอุปสรรคคือเป็นโรงเรียนที่อยู่ไกลบ้าน ดังที่เห็นจากเคสที่ทีมได้ไปสัมภาษณ์มา  

นอกจากประเด็นข้างต้น ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ดูแลหลานออทิสติก ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีปัญหาการเข้าถึงกองทุนเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพตามสิทธิคนพิการเพราะขาดคนค้ำประกันและรู้สึกว่าระบบเข้าถึงยาก                                                                                                                   
  2. ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีปัญหาอารมณ์อยู่เดิมและมีมากขึ้นในช่วงแรกที่ต้องมาดูแลเด็ก แต่ดีขึ้นหลังจากยอมรับความเป็นจริงของตนเอง รับรู้คุณค่าของตนเอง หรือรู้สึกว่ามีคนเข้าใจตนเอง                                  
  3. แม้จะมีข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลเด็กออทิสติกได้ง่ายขึ้น เช่น ข้อมูลโรงเรียนเฉพาะทางและโรงเรียนที่มีระบบเรียนรวม ที่สามารถดูแลเด็กออทิสติกได้ ข้อมูลสิทธิพื้นฐาน เช่น ขั้นตอนการขอใช้สิทธิ 30 บาท ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้ปกครองเด็กพิการ ของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นต้น แต่ผู้สูงอายุเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้หรือเข้าถึงล่าช้า โดยส่วนมากจะได้ทราบข้อมูลเหล่านี้จากโรงพยาบาล
  4. ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นของผู้สูงอายุมักจะมาควบคู่กับช่วงที่ต้องรับรู้ข้อมูลใหม่   

อย่างไรก็ตาม ทีมค้นพบว่านอกจากผู้สูงอายุแล้ว ชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาล ยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กและให้การสนับสนุนครอบครัวของเด็กที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ดังนี้ 

ชุมชน

เพื่อนบ้านอาจช่วยสะท้อนให้ผู้สูงอายุทราบได้ว่าเด็กมีปัญหา และแนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษา ช่วยเหลือดูแลเด็กในยามจำเป็น

โรงเรียน

โรงเรียนที่มีความพร้อมในการดูแลเด็ก มีครูที่มีทักษะการดูแลและเข้าใจเด็กออทิสติก ตลอดจนมีการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะรายบุคคลใช้ในโรงเรียน จะช่วยลดภาระของผู้สูงอายุได้ และสร้างความสุข ความภูมิใจเมื่อผู้สูงอายุได้เห็นพัฒนาการของเด็ก

โรงพยาบาล

โรงพยาบาลสามารถให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุทั้งด้านความรู้ในการดูแลเด็กและภาวะอารมณ์ รวมทั้งยังรับฟังผู้สูงอายุ ทำให้มีที่พึ่งเมื่อเด็กมีปัญหาพฤติกรรม และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากเกินไป และยังสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาการเงินได้  เช่น ให้คำแนะนำลงทะเบียนบัตรคนพิการ เพื่อรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้รับเงินอุดหนุนรายเดือน ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแลได้

ดังนั้นผู้สูงอายุ ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล จึงสนับสนุนซึ่งกันและกันและมีความสำคัญในการดูแลเด็กและครอบครัวของเด็กที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต 

ท้ายที่สุด ทีม SIMPLE ได้ How Might We ที่ตอบโจทย์การช่วยเหลือดูแลเด็กออทิสติกและผู้ดูแล ว่า

“จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางสังคมในการดูแลเด็กออทิสติกได้ง่ายขึ้น”

สิ่งที่จะทำต่อเพื่อต่อยอดไอเดียจาก How Might We 


1. หาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลอะไรอยู่แล้วบ้าง อยู่ในรูปแบบไหน และเหมาะสมกับผู้สูงอายุหรือไม่
2. ที่ผ่านมาผู้สูงอายุเข้าถึงแหล่งข้อมูลและสนับสนุนอย่างไรบ้าง มีอะไรเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล และวิธีใดง่ายที่สุดในการเข้าถึงข้อมูล
3. มีข้อมูลสำคัญอะไรอีกบ้าง ที่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จำเป็นต้องรู้ แต่ยังไม่รู้
4. หากผู้สูงอายุรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ยังไม่ได้ลงมือทำจริง

Insights ในบทความนี้เป็นข้อมูลที่ได้จากการทำงานของทีม SIMPLE เท่านั้น ในการดูแลเด็กออทิสติกและการสนับสนุนผู้ดูแล จึงอาจยังไม่ครอบคลุม Insights ทั้งหมด และยังมี Insights อื่นๆ ที่รอให้ผู้ที่สนใจแก้ไขปัญหานี้ไปเรียนรู้และค้นพบอยู่อีกมาก 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อทีม SIMPLE ได้ที่ [email protected] (แป้งหอม)

สะท้อนการเรียนรู้ของทีม SIMPLE จากประสบการณ์การทำความเข้าใจปัญหาเชิงลึก (หรือ หา Insights) 

– ในการทำงานเป็นทีมอาจมีช่วงที่สมาชิกทีมเกรงใจกันและกัน หรือไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้ใช้วิธีเอาความเห็นทุกคนมารวมกัน เพื่อความสบายใจ แต่การกลับมาทบทวนว่าเป้าหมายของงานนี้คืออะไร และเราจะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร สำคัญที่สุดคือ  “ไม่ยึดติดและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” จะทำให้ทีมไปต่อได้                                                      
– “เมื่อเราลองวางตัวตน ความเชื่อ  ความรู้  ข้อมูลที่รู้ลง เราวางจะพบช่องว่างอีกมาก และพบว่าเรามีเรื่องที่ไม่รู้อีกเยอะ  เราเปลี่ยนการมองจากเป้าหมายว่าเราต้องได้อะไร เป็นเราจะเข้าใจเขาได้อย่างไร เราเปลี่ยนจุดโฟกัสที่ตัวเรา (งานต้องเสร็จ) เป็นโฟกัสที่ตัวผู้ที่เราจะไปสัมภาษณ์วิธีนี้ทำให้สิ่งที่เราอยากรู้ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว และตามมาด้วยวิธีการ และสถานที่สัมภาษณ์โดยอัตโนมัติ”            
– เราจะรู้อะไรมากขึ้นได้ต่อเมื่อเราไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมที่เรารู้ และในการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์จะเล่าอะไร คงไม่ได้อยู่ที่เขารู้อะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาอยากเล่าอะไรให้เราฟัง ดังนั้นการสร้างบรรยากาศที่สบายใจ เอื้อต่อการเล่าจึงสำคัญ                                    
– การลงพื้นที่สัมภาษณ์ ยังทำให้ได้เรียนรู้ความสำคัญของการมีพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทีม SIMPLE เอามาประยุกต์ใช้กับการทำงานในทีมเช่นกัน เพราเมื่อทำงานไปด้วยกัน การทำงานเป็นทีมที่ข้ามสาขาความเชี่ยวชาญ ทำให้สมาชิกแต่ละคนมีมุมมองและวิธีการทำงานที่ต่างกัน และเริ่มมีความรู้สึกอึดอัดเกิดขึ้น การพูดคุย การรับฟัง การสะท้อนความต้องการ การตั้งสมมุติฐาน การทดลอง สื่อสารปรับจูนกันอีกครั้ง และลองปรับการทำงานรูปแบบใหม่ ทำให้ทีมก้าวข้ามจุดที่เกิดความอึดอัดในการทำงานไปได้
– “ความหมายของคำว่า “ทีม” คือสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้ร่วมเดินทางมาถึงตอนนี้
ทีมไม่ใช่การรวมตัวกันของคนที่มีเป้าหมายเดียวกันและช่วยผลักดันให้เป้าหมายสำเร็จ แต่ทีมคือคนที่เต็มไปด้วยความต่างทั้งไอเดีย มุมมอง จังหวะการทำงาน ระดับพลังงานที่ยอมรับฟังกันและกัน ไม่หยุดที่จะสื่อสารกัน คอยเว้นจังหวะ คอยกระตุ้นให้ความเป็นตัวของตัวเองของกันและกันให้ได้แสดงออกมา และเอาความต่างนี้แหละเติมเต็มให้กัน”
– “ไม่มีการเก็บข้อมูลครั้งไหนที่สมบูรณ์ แต่เรามักจะได้คำถามกลับมาเพื่อกลับไปทำให้สิ่งนั้นสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง”                 
– “หลายครั้งเมื่อคิดจะพัฒนาอะไรสักอย่างเรามีโอกาสสูงที่จะหลงไปกับ “เราจะทำอะไร” และพยายามคิดหาสิ่งที่จะทำเป็นรูปธรรม แต่สิ่งนั้นอาจจะแคบเกินไปและปิดกั้นโอกาสหลายๆอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว  เป็นธรรมดาของคนเราที่เมื่อคิดอะไรแล้ว เรามีแนวโน้มที่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของเรา และเราอาจจะลืมมองความเป็นไปได้อื่นๆ ไป ถอยหลังหนึ่งก้าวใหญ่ๆ เพื่อให้เห็นภาพกว้างมากขึ้น”         
– “ถ้าเราใช้คำว่าเป็นไปได้มั้ยที่เราจะทำ… เราจะนึกถึงสิ่งที่เราจะทำ ถ้าใช้คำว่า จะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะ… เราอาจจะไปต่อไม่ถูกเพราะมันกว้างเกินไป แต่ถ้าเราใช้คำว่า จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะช่วยให้ เราอาจจะนึกถึงสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการจริงๆ และสิ่งนี้ก็กลายเป็นประโยคคำถามที่ช่วยให้เรามองหา solution ได้หลากหลายขึ้น”
– ความสำเร็จเล็กๆ ของทีม SIMPLE ทำให้คนอื่นเห็นว่าการทำงานข้ามสาขาความเชี่ยวชาญ สายวิชาชีพกับสายสนับสนุน ที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงๆ

“ถ้าการสร้างนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ก็คงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มที่ตัวเรา” 

– ทีม SIMPLE –

บทความนี้เรียบเรียงข้อมูลจากบันทึกการเรียนรู้ของทีม SIMPLE และบันทึกของโค้ชประจำทีม 

อ่านบันทึกการเรียนรู้ของทีม SIMPLE ได้ ที่นี่

เรียบเรียงโดย