จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ สหประชาชาติได้แบ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เป็น 5 กลุ่ม หรือเรียกว่า 5P ได้แก่
P1 : Planet สิ่งแวดล้อม
P2 : People คนและสังคม
P3 : Prosperity ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
P4 : Peace สันติภาพและความสงบสุข
P5: Partnership หุ้นส่วนความร่วมมือ
โดยแบ่งตามความเชื่อมโยงของเป้าหมายในบทความก่อนหน้า เราได้ทำความเข้าใจเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลุ่ม P1: Planet สิ่งแวดล้อม และ P2 : People คนและสังคม ไปแล้ว ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเป้าหมายกลุ่ม P3: Prosperity ซึ่งเป็น SDGs กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ (SDG7) การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดี (SDG8) อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม (SDG9) ลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) และเมืองและชุมชนยั่งยืน (SDG11) SDGs ในกลุ่ม P3 อาจดูห่างไกล เป็นเรื่องในระดับประเทศ แต่ที่จริงกลับเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนไม่น้อย

สถานการณ์ปัญหาในประเทศไทยในปัจจุบัน
แม้เป้าหมายในกลุ่ม P3 จะเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งอาจดูเป็นเรื่องในระดับประเทศ แต่เมื่อพิจารณาประเด็นปัญหาที่ท้าทายในเป้าหมายกลุ่มนี้ ล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับคุณภาพความเป็นอยู่ของเราและการทำงาน
ภาพจาก : jaturonoofer
ในด้านคุณภาพความเป็นอยู่ มีประเด็นความท้าทายที่ต้องได้รับการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเมืองและชุมชนยั่งยืน ทั้งความน่าอยู่ของเมือง ที่ยังขาดพื้นที่สีเขียว ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ครอบคลุมและผู้ใช้งานยังเข้าถึงได้ไม่สะดวก โดยมีคนเมืองเพียงร้อยละ 24 ที่เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวก1 นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงจนประชาชนที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองไม่สามารถเข้าถึงได้ และจำเป็นต้องอยู่ในชุมชนแออัด2
ความท้าทายที่สำคัญในด้านพลังงาน คือประเทศไทยยังผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลเป็นหลัก และมีการปล่อยคาร์บอนในการผลิตพลังงานในระดับที่สูง ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งยังขาดการส่งเสริมการวิจัยและสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด3
ในด้านการทำงานยังพบประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานคือมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่สูง ระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุดและมีรายได้ต่ำที่สุด และประเด็นการจ้างงานที่เป็นธรรมยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญทั้งในด้านแรงงานทาสสมัยใหม่ (แรงงานเด็ก แรงงานที่ถูกบังคับทำงาน) ซึ่งแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานนอกระบบและส่วนมากไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่ควรจะได้รับ นอกจากนี้ยังมีประเด็นความรุนแรง ได้แก่ การใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-based violence) และความรุนแรงในครอบครัว4 นอกจากนี้ แม้ว่าแรงงานและประชาชนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล (Digital Literacy) อีกมาก5
ในด้านอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม ประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งการคมนาคม โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน อย่างไรก็ตาม ยังมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อย ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจยังทำได้ยาก และยังมีความท้าทายในการเพิ่มการจ้างงานในประเทศให้มากขึ้น6
ผลกระทบ
ความเหลื่อมล้ำที่สูง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของรายได้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย ทำให้ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจได้ช้า และยังไม่หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง7
การที่ยังคงมีปัญหาในด้านความเป็นอยู่ในเมืองและชุมชน การเข้าถึงพลังงานสะอาด ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปในการเดินทางจากระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุม รวมถึงปัญหามลภาวะทางอากาศจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น8
การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวแรงงานเองที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย และแรงงานยังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แรงงานที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะได้ทันต้องเปลี่ยนงานใหม่ หรือเปลี่ยนตำแหน่งงานที่ทำ9
ในด้านอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม ประเทศไทยยังมีการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี ทางอุตสาหกรรมน้อย ทำให้การพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มีมูลค่ามากขึ้นทำได้ยาก และต้นทุนค่าแรงที่สูงทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปลงทุนประเทศอื่นที่ต้นทุนค่าแรงน้อยกว่า10
หากประเทศไทยยังคงมีปัญหาในประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ เช่น การคุ้มครองแรงงาน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งบังคับใช้มาตรการต่างๆ เช่น ภาษีคาร์บอน มาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาด ได้ช้ากว่าประชาคมโลก จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระทบกับอุตสาหกรรมหลักอย่างการท่องเที่ยว การส่งออก การถูกกีดกันทางการค้าจากมาตรการของประเทศอื่นๆ เช่น กำแพงภาษีที่เก็บสินค้าที่ปล่อย carbon footprint สูง11
ความท้าทายและช่องว่างในการบรรลุเป้าหมาย
- ในด้านความเหลื่อมล้้ำ ประเทศไทยยังขาดกฎหมายกำกับการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย ที่ธุรกิจรายใหญ่สามารถผูกขาดและปิดโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ และสร้างธุรกิจให้เติบโตของธุรกิจรายย่อยได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ12
- แรงงานมีอำนาจต่อรองน้อย และยังขาดกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสม และขาดนโยบายที่สร้างโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อย13 ดังนั้นการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ว่าจ้าง รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวแก่ผู้ว่าจ้างให้ปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเป็นธรรม จึงมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำของแรงงานได้
- การพัฒนาทักษะอาชีพและสร้างงานแก่กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย กลุ่มผู้เปราะบาง เช่น ผู้พิการ เป็นโอกาสที่สามารถต่อยอดทักษะการทำงาน พัฒนาทักษะอาชีพให้ทันกับตลาดแรงงาน ซึ่งช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะผู้เปราะอย่างผู้พิการที่มีศักยภาพในการทำงานบางด้านสูงกว่าคนทั่วไป
- การพัฒนานโยบาย มาตรการที่สำคัญในด้านพลังงานสะอาด เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาษีคาร์บอน ให้บังคับใช้จริงและต่อเนื่อง มีการร่วมมือกันทำวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด รวมทั้งทำให้ทุกคน แม้แต่ผู้มีรายได้น้อย ก็สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ซึ่งนโยบายและมาตรการเหล่านี้หากทำได้จะทำให้ใช้พลังงานสะอาดได้อย่างทั่วถึง14
- ในด้านการพัฒนาเมืองและชุมชน การพัฒนาเมืองให้มีโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะ ครอบคลุม ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ รวมทั้งมีการจัดสรรการใช้พื้นที่ในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ อาจเริ่มต้นได้ด้วยภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งในหลายๆ ครั้งเริ่มจากโครงการทดลอง ก่อนนำไปต่อยอดสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ต่างๆ เช่น โครงการสวนชุมชนของ We! Park
มีใครแก้ไขปัญหานี้อยู่บ้าง
- Vulcan Coalition (SDG 8,10) Vulcan Coalition คือบริษัทที่พัฒนา AI โดยพนักงานในบริษัทเป็นคนพิการทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว และกลุ่มออทิสติก ให้มีงานประจำและมีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว ซึ่งคนเหล่านี้มีจุดเด่น เช่น คนพิการทางการมองเห็นมีประสาทการได้ยินไวกว่าคนทั่วไป ในขณะที่คนพิการทางการได้ยินจะรับรู้ภาพได้ไวกว่าคนทั่วไป จุดเด่นเหล่านี้เป็นความสามารถที่ทำให้พวกเขาเทรน AI ได้รวดเร็วขึ้น และผลงานพัฒนา AI ของบริษัทได้นำไปใช้จริงในองค์กรชั้นนำของประเทศ
ภาพจาก : Vulcan Coalition
- เกาะจิก อ.ขลุง จ.จันทบุรี (SDG 7,10,11) เกาะจิก เคยเป็นเกาะที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เกาะไม่ได้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่มากนัก แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ได้พัฒนาโครงการส่งไฟฟ้ามาที่เกาะ เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาด้วยการเสนอแผนการผลิตไฟฟ้าของหมู่บ้านกับกระทรวงพลังงานจนได้รับการอนุมัติให้ใช้โซลาร์เซลล์ร่วมกับการใช้น้ำมันดีเซลที่ใช้อยู่เดิม และพัฒนาต่อมาจนในปัจจุบันสามารถใช้โซลาร์เซลล์ 100% สร้างพลังงานให้ได้ทั้งเกาะ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลักพันบาทต่อครัวเรือน และชาวบ้านมีความเข้มแข็งพึ่งตัวเองได้ในการซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งยังมีรายได้จากการขาย carbon credit ให้บริษัทในต่างประเทศ
- โครงการจ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา (SDG 8) โครงการจ้างวานข้า เป็นโครงการของมูลนิธิกระจกเงาที่ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างงานให้คนไร้บ้าน โดยรับคนไร้บ้านเข้ามาทำงานและมีรายได้จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาหารกิน ไปจนถึงมีเงินเก็บพอที่จะเช่าห้องเช่าได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกหลายโครงการ เช่น ‘สดชื่นสถาน’ แหล่งรวมบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ น้ำดื่ม ซักอบผ้า ห้องสุขา ‘ช้าการช่าง’ สร้างงานให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฝีมือทำงานช่างด้วยการเปิดรับบริจาคเครื่องใช้ไฟฟ้ามาให้สมาชิกโครงการเป็นผู้ซ่อม
ภาพจาก : โครงการจ้างวานข้า
- Mayday! (SDG 11) Mayday ทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง TCDC สสส. กทม. หรือบริษัทเอกชนอื่นๆ ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและการเดินทางในเมือง เช่น การให้ข้อมูลเส้นทางและจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะในเพจ Mayday การออกแบบป้ายรถเมล์ใหม่ที่ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ และนำไปใช้งานจริงในกรุงเทพมหานครจำนวน 500 ป้าย การประกวดออกแบบศาลารอรถเมล์แบบใหม่ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน การจัดเวิร์กชอประดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการเดินทางในถนนสาทรให้ปลอดภัยขึ้น และโปรเจกต์ล่าสุด เป็นการทดลองให้บริการรถ shuttle bus ที่เชื่อมต่อย่านต่างๆ ในเขตพระนคร ในงาน Bangkok Design Week 2024
อ้างอิง
1. รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565
https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/
2. รายงานความก้าวหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2559-2563
3. Thailand Chevening Alumni Association. Chevening Thailand Policy Forum 2023
4. Highlight Thailand Sustainable Development Report 2022
https://drive.google.com/file/d/11P7zfMBM8YsXxhpcXNLcq8taija42EJ_/view
5. KKP Research เจาะลึกความเหลื่อมล้ำไทย แก้ได้ไหม แก้อย่างไร
https://thaipublica.org/2021/04/kkp-research27/
6. SDG Insights | แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19
https://www.sdgmove.com/2021/05/01/contribute-to-may-1-life-of-workers-after-covid-19-sdg1-sdg8/
7. Vulcan Coalition
https://www.vulcancoalition.com/
8. เกาะจิกโมเดล
https://readthecloud.co/koh-jik-chanthaburi/
9. โครงการจ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา
https://www.mirror.or.th/intern/index1.2.html
10. Mayday!
https://www.facebook.com/maydaySATARANA
- https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/
↩︎ - https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/
↩︎ - Thailand Chevening Alumni Association. Chevening Thailand Policy Forum 2023
↩︎ - https://drive.google.com/file/d/11P7zfMBM8YsXxhpcXNLcq8taija42EJ_/view ↩︎
- https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://thaipublica.org/2021/04/kkp-research27/ ↩︎
- https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://www.sdgmove.com/2021/05/01/contribute-to-may-1-life-of-workers-after-covid-19-sdg1-sdg8/ ↩︎
- https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://thaipublica.org/2021/04/kkp-research27/ ↩︎
- https://thaipublica.org/2021/04/kkp-research27/ ↩︎
- https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/ ↩︎