โรงเรียนปล่อยแสง เป็นโครงการที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจ TCP โดยปีที่ 3 นี้ โครงการพัฒนานิเวศการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนปล่อยแสง มีวัตถุประสงค์ คือ การหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพครูให้สามารถสร้างต้นแบบนวัตกรรมพัฒนานิเวศการเรียนรู้ โดยใช้มุ่งเน้นการโจทย์ความท้าทายจริงในโรงเรียน ค้นหาข้อมูลเชิงลึก ตั้งสมมติฐานการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) และลงมือทำจริงเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีทีมงาน Insights for Change ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ออกแบบกระบวนการ และเป็นโค้ชนวัตกรรม เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดย่อม ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนและคุณครูทั้ง 6 โรงเรียนสร้างการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ร่วมกัน
6 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด (ระดับชั้นมัธยมศึกษา)
- โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จ.หนองบัวลำภู (โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษระดับชั้นมัธยมศึกษา)
- โรงเรียนบ้านกาเนะ จ.สตูล (ระดับชั้นประถมศึกษา)
- โรงเรียนศรีรักษ์ราฎร์บำรุง จ. ปราจีนบุรี (โรงเรียนในสังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น)
- โรงเรียนสุจิปุลิ จ. ฉะเชิงเทรา (โรงเรียนเอกชน ระดับเตรียมอนุบาล -ประถมศึกษา)
- โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ จ.สงขลา (โรงเรียนเอกชนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Insights นิเวศการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ที่นี่
มองนิเวศการเรียนรู้ผ่านทฤษฎีและกรอบแนวคิด
ทฤษฎีชีวนิเวศของการพัฒนามนุษย์ (Bioecological Model of Human Development) ของ Urie Bronfenbrenner เมื่อมองเรามองในบริบทนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก ประกอบด้วย
- Content & Process ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นคน เพื่อน ครู พ่แม่ สถานที่ ธรรมชาติรอบตัว ออกมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดพัฒนาการของเด็ก หนังสือ เนื้อหาบทเรียน กระบวนการเรียนรู้
- Children ตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็น คุณลักษณะภายนอก ภายใน นิสัย จุดแข็ง จุดอ่อน ความถนัด ความสนใจ
- Context บริบทแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก บ้าน โรงเรียน ชุมชน รวมถึงบริบทที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สถานการณ์บ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม
- Time ช่วงเวลา หรือระยะเวลา มองได้ตั้งแต่ระยะเวลาช่วงสั้นๆ ของการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระยะเวลาหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะสถานการณ์รอบตัว ในห้องเรียน กับพ่อแม่ หรือมองระยะยาวแบบต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นเทอม ปี ช่วงชั้น ไปจนถึงช่วงเวลาของยุคสมัย Generation ที่ส่งผลต่อการพัฒนามุมมอง ทัศนคติ ค่านิยามของเด็ก ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาทั้งนั้น
จะเห็นว่าทั้ง 4 อย่างเป็นองค์ประกอบ ปัจจัยที่ส่งผลต่อกัน เช่น ช่วงเวลาของเด็กที่เติบโต เรียนรู้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด การเรียนออนไลน์ที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เทคโนโลยีที่จำกัด อาหารการกิน ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก เราจะเห็นว่ามี learning lost เกิดขึ้นหลายด้าน ทั้งทักษะทางสังคม ภาษา การสื่อสาร ทักษะวิชาการต่าง ๆ เป็นต้น
Learning System โดย Peter Senge
การพิจารณาถึง “ระบบ” ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ คนที่เกี่ยวข้องในระบบที่เชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อกัน ทั้งตัวเด็กเองและคนที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของระบบและโครงสร้างที่ซับซ้อน การสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่เข้าใจสิ่งนี้
ในการทำโครงการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ ทีม Insights for Change ทำงานร่วมกับโรงเรียนบนแนวคิดการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ด้วย The Fifth Discipline 5 อย่าง ดังนี้
- การเป็นนายตัวเอง (Self-Mastery) การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น กระบวนการค้นหาประเด็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับโรงเรียน เพื่อให้ทุกคน เห็นความสำคัญร่วมกัน ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจปัญหาเชิงลึก “อิน” กับปัญหา เกิดมุมมองและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ คน และระบบ จากนั้นหนุนเสริมศักยภาพ ดึงความถนัดความสนใจของตนเองออกมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) การสร้างวิสัยทัศน์ที่อยากให้ไปถึงร่วมกันในองค์กร ผ่านกระบวนการค้นหาปัญหา เครื่องมือ เช่น Theory of Change / Impact Value Chain
- การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) การมองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากตัวโครงการ กิจกรรมที่ทำ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ใช้เครื่องมือคิดเชิงระบบ (Systems Thinking Tools) ใช้ในการโค้ช เพื่อให้โรงเรียนเห็นความสัมพันธ์ของ “ระบบ” ที่ซับซ้อน
- การทำงานกับแบบแผนความคิด (Mental Model) การเข้าใจแผนความคิดของตนเอง ที่เกี่ยวข้องกับความท้าทาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถทำงานกับแผนความคิดที่แตกต่างหลากหลายในองค์กร
- การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) การใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
กระบวนการทำงานใช้ Systemic Design Approach
- การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
แต่ละโรงเรียนลงไปทำความเข้าใจสถานการณ์ความท้าทาย โจทย์ในโรงเรียนของตนเอง วิเคราะห์ปัญหาอย่างลึกซึ้ง โดยที่ทุกคนเห็นภาพตรงกัน เลือกระบุสิ่งที่สนใจ ความท้าทายที่อยากก้าวข้ามและภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น โดยทุกคนในองค์กรอยากจะลุกขึ้นมาลองสร้างการเปลี่ยนแปลง “ร่วมกัน”

การเปิดพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา และความท้าทาย โดยใช้ Insight Tools ลงไปเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถาม ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก ช่วยให้คุณครูมีความเข้าใจใหม่ เกี่ยวกับความท้าทายในโรงเรียนที่ลึกซึ้งขึ้น มีความเข้าใจใหม่ (Insights) ในเรื่องที่ตนเองกำลังจะทำ เช่น จะทำเรื่องขยะ ในโรงเรียนมีปริมาณขยะมากน้อยอย่างไร มีประเภทอะไรบ้าง เด็ก ๆ มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับขยะในโรงเรียนของตนเอง และตอนนี้เขาจัดการขยะอย่างไร สนใจเรื่องภาระงานของครูในโรงเรียน ตอนนี้ครูแต่ละคนทำงานมากน้อยอย่างไร กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วัดปริมาณงานอย่างไร และวัดความคืบหน้าและผลการทำงานอย่างไร แต่ละคนมีความสุขกับการทำงานหรือไม่ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้างก่อนเริ่มต้นทำโครงการ เป็นต้น
เมื่อเข้าใจสถานการณ์ความท้าทายเบื้องต้นแล้ว ระหว่างการทำงาน ได้มีระบบสนับสนุนต่าง ๆ ดังนี้
1. การโค้ชและการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
โค้ชมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ช่วยสะท้อนผ่านคำถามถึงสิ่งที่ทีมทำ จะนำไปสู่เป้าที่ตั้งหมายไว้ได้อย่างไร รวมถึงมองเห็นศักยภาพของทีมที่มี และจุดที่ควรหนุนเสริม นำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านมาช่วยให้คำแนะนำ หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับทีมครูแกนนำในการทำงาน
2. Learning Community เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แม้จะอยู่กันคนละภูมิภาคของประเทศ การประชุมทุกเดือนช่วยให้ทีมได้เห็นความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการทำงานของเพื่อนร่วมโครงการ เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างกันได้
3. หนุนเสริมศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ มีทั้งทักษะที่จำเป็น เช่น การเข้าใจปัญหาที่แท้จริง ผ่านการตั้งคำถามด้วย Action Learning การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Google for Education หรือ ใช้วิธีการข้ามศาสตร์เช่น Agile/Scrum มาทดลองให้ครูใช้บริหารจัดการโครงการเป็นต้น
- การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)
เมื่อเรามองสถานการณ์ความท้าทายของโรงเรียน เหมือนค่อย ๆ ประกอบจิ๊กซอว์ต่อเข้าด้วยกัน หลังจากทำความเข้าใจสถานการณ์ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ปัจจัยเชิงระบบ เช่น เราจะเห็นว่า เมื่อพูดถึงภาระงานของครูนั้น เป็นสถานการณ์ที่อยู่บนภูเขาน้ำแข็งที่แต่ละโรงเรียนต่างเจอ หากพิจารณาลึกลงไป มีสิ่งที่ส่งผลให้ครูมีภาะงานล้นมือมากมายหลายปัจจัย
– ในเชิงโครงสร้าง การคำนวณภาระงานของครูคิดชั่วโมงงานตามที่ถูกกำหนดมา แต่ในชีวิตประจำวันคุณครูมักทำทำงานเกินจำนวนชั่วโมงที่ถูกคิด เช่น ใน 1 วิชา 1 เทอม คิดชั่วโมงตรวจการบ้านหรือเตรียมการสอนน้อยกว่าความเป็นจริง คุณครูจำเป็นต้องมาโรงเรียนเช้า กลับค่ำ เพื่ออยู่เวรดูแลความปลอดภัยของเด็กช่วงก่อนและหลังเลิกเรียน (เฉลี่ยวันละ +2 ชั่วโมง) การอบรมภายนอกที่สอดแทรกเข้ามาทำให้ครูต้องไปประชุมตามหน้าที่ รายงานต่าง ๆ ที่หน่วยงานภายนอกขอให้ทำ การวัดประเมินผล หรือแม้กระทั่งมุมมองวิธีคิดของครูแต่ละช่วงวัย ก็ส่งผลต่อทัศนคติที่มีต่อปริมาณงาน เป็นต้น
เริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งสมมติฐานการเปลี่ยนแปลง โดยมองการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบไปด้วย
การนำความท้าทายของแต่ละโรงเรียนมาเชื่อมร้อยกันและมองเป็นระบบช่วยให้เห็นภาพใหญ่ ถึงแม้ว่าทุกโรงเรียนอยากพัฒนาให้ไปถึงตัวเด็กโดยตรง เห็นการเปลี่ยนแปลงกับเด็กอย่างชัดเจน แต่เราพบว่า กว่าที่โรงเรียนจะสร้างเด็กได้ตามสมรรถนะที่ตั้งไว้ มีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีนั้น มีปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง มีนิเวศการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก-โรงเรียน-ครู-ครอบครัว-ชุมชน มากมาย ที่ส่งผลกระทบอย่างมาก แม้จะไม่ใช่ทางตรง

- ภาระงานของครู ส่งผลต่อคุณภาพของเวลาที่ครูใช้ร่วมกับเด็ก ส่งผลต่อคุณภาพการสื่อสารระหว่างเด็กและครู เมื่อครูมีเวลาน้อย งานเยอะ เครียด จึงสื่อสารกับเด็กน้อย ไม่มีเวลาคุณภาพอยู่กับเด็กจริง ๆ รวมถึง ปัจจัยภายในของครูเอง สุขภาพกาย ใจของครู สมดุลการใช้ชีวิต การเงิน ความมั่นใจในตัวเอง สุขภาพจิต เป็นสิ่งที่ครูหลายคนสะท้อนออกมา แต่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงจุดนี้
- คุณภาพการเลี้ยงดูของครอบครัว แม้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เรารู้กันอยู่แล้ว แต่พบว่าหากครอบครัวใกล้ชิดกับเด็ก ที่บ้านสามารถส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นให้กับโรงเรียน เหมือนทำงานเป็นทีมร่วมกัน ข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณครูเข้าใจและออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมมากขึ้นได้ โดยไม่ได้มองว่า ทุกอย่างเป็นภาระหน้าที่ของครูและโรงเรียนอย่างเดียว
- การสนับสนุนของผู้บริหาร มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้โรงเรียนเข้าถึงทรัพยากร และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ชุมชน เครือข่ายจากภายนอกที่จำเป็น และช่วยหนุนเสริมศักยภาพของครูในด้านต่างๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน เช่น การบริหารจัดการ การเป็นผู้นำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างหากเปลี่ยนในระดับนโยบาย หรือระดับองค์กร จะช่วยให้คนทำงาน ทำงานง่ายขึ้นมาก เป็นต้น
ในการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ของแต่ละโรงเรียนในโครงการจึงเริ่มขยับจากฟันเฟืองที่แตกต่างกันตามลำดับความสำคัญและบริบทของโรงเรียน ณ ช่วงเวลาที่ทำโครงการ โดยตั้งสมมติฐานการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้การทำงานมีเข็มทิศ สามารถกลับมาตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ในตอนแรก เพื่อให้การทำงานไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ถ้า…เลือกวิธีการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางนี้ แล้ว... จะเกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง (ที่อยากเห็นกับกลุ่มเป้าหมาย หรือโรงเรียน) อย่างไรบ้าง
ตัวอย่างสมมติฐานการเปลี่ยนแปลง ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
- ถ้านักเรียนรู้ว่าตนเองนั้นมี Character Strengths ใดแล้ว จะสามารถใช้จุดแข็งในการพัฒนาตนเอง ครู ผู้ปกครองสามารถออกแบบการเรียนรู้และสนับสนุนเด็กได้อย่างเหมาะสมได้

- ถ้าครูมีทักษะและเครื่องมือในการสื่อสาร และบริหารจัดการโครงการ แล้ว จะเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน สามารถจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดภาระงานของครูได้

Challenge & Lesson Learn
- ทำเรื่องที่ครูมี passion “อะไรก็ได้” ที่ครูอิน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ เรื่องที่เขา “อิน” มักเป็นเรื่องที่เขาเป็นปัญหา- อุปสรรคมานาน ถ้าแก้เองได้เขาแก้เองไปนานแล้ว แรงสนับสนุนจากภายนอกช่วยให้ครูกล้าที่จะเลือกโจทย์ที่ท้าทายและอินจริง ๆ ซึ่งใช้เวลาและความเชื่อมั่น แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถ้าหากเปลี่ยนแปลงได้แล้ว จะเห็นผลกระทบมาก เช่น ความพยายามในการลดช่องว่างระหว่างวัย ของครูรุ่นเก่า-ใหม่ ผ่านการกระบวนการทำงาน การประชุม การสร้างความสัมพันธ์ในโรงเรียน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยระหว่างครูและเด็ก
เรื่องที่ครูอยากทำ หลายประเด็นเป็นเรื่องที่เห็นการเปลี่ยนแปลงช้า จำเป็นต้องลองผิดลองถูกหลายวิธี ไม่ค่อยมีใครอดทนรอ เปิดโอกาสให้ครูทำโจทย์ “อะไรก็ได้” ส่วนใหญ่มักมีสิ่งที่ ”ต้องทำ” สำคัญ เร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบ โครงสร้าง ความคาดหวังของชุมชน ผู้บริหาร - ยึดเป้าที่อยากเห็นไว้ โดยไม่ยึดติดวิธีการ ทำด้วยทัศนคติที่ว่า ลองไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอ (ทุกคนจะมีความกลัวพลาด กลัวทำไม่ถูก ซึ่งการสร้างนวัตกรรมไม่มีวิธีที่ถูกต้องตายตัว) เน้นการตั้งคำถามทบทวนการทำงานเป็นระยะ เห็นว่ากิจกรรมไหนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ อันไหนไม่ใช่ ปรับ เลือกวิธีการใหม่ มองความผิดพลาด = การเรียนรู้ เพื่อปรับปรุงต่อไป
- ระยะเวลาที่มี เวลาทดสอบจริงประมาณ 1 เทอม แม้จะมีการเก็บผลระยะสั้นเป็นระยะ แต่หากจะ implement โครงการอะไรในโรงเรียนควรมีเวลาทำซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง (รวมระเวลาประมาณ 1-3 ปี++ ) โดยเผื่อเวลาทำความเข้าใจปัญหา และถอดบทเรียน ปรับโมเดลต้นแบบและทำซ้ำใหม่ รวมถึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้แบ่งปันแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นให้คนอื่นฟัง เพื่อทดลองขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นที่มีบริบทหรือความท้าทายที่คล้ายกัน
- การเก็บองค์ความรู้ระหว่างทางนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากคุณครูมีภาระงานที่เยอะ จึงมักเป็นการถอดบทเรียนระหว่างทาง แบ่งปันใน PLC แบบไม่เป็นทางการ
- การมีคนที่ติดตามโครงการอย่างใกล้ชิด เป็นเพื่อนร่วมทาง ช่วยกระตุ้นให้คุณครูมีไฟในการทำงานมากขึ้น ไม่ใช่ครูไม่มีความรับผิดชอบ แต่ด้วยภาระงานที่ล้น การทดลองใส่อะไรใหม่ๆ เข้าไปในโรงเรียน มักจะเป็นงานงอก และเป็นภาระงานที่เพิ่มของครู (ในระยะสั้น) แต่หากทำไปเรื่อยๆ มีทักษะเพิ่มขึ้นแล้ว จะส่งผลดีในระยะยาวที่ช่วยลดภาระงาน