นับถอยหลังกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ

1. นิยาม SDG Goal และ เป้าหมาย 17 ข้อ แบ่งตามกลุ่ม 5P
2. สถานการณ์ SDG ในประเทศไทย
3. ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมาย
4. จะเป็นอะไรไหม ถ้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้? 

SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คืออะไร?

SDGs ย่อมาจาก Sustainable Development Goals แปลอย่างตรงตัวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นคำที่ถูกเชื่อมโยงกับหลายประเด็น ถูกใช้ในหลากหลายบริบท จนอาจเกิดความสับสนได้ว่า แท้จริงแล้วเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นหมายรวมถึงประเด็นใดในสังคมบ้าง สหประชาชาติจึงนำเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ มาแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม หรือเรียกว่า 5P1 ได้แก่

  1. P1 : Planet สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย SDG6 การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน SDG13 รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และ SDG15 ระบบนิเวศบนบก
  2. P2 : People คนและสังคม ประกอบด้วย SDG1 ขจัดความยากจน SDG2 ยุติความหิวโหย SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม และ SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
  3. P3 : Prosperity ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย SDG7 เข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดี SDG9 อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDG11 เมืองและชุมชนยั่งยืน
  4. P4 : Peace สันติภาพและความสงบสุข ประกอบด้วย SDG16 สันติภาพและสถาบันที่เข้มแข็ง
  5. P5 : Partnership หุ้นส่วนความร่วมมือ ประกอบด้วย SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

ภาพจาก : SDG Move

สถานการณ์ปัจจุบันของ SDGs ในประเทศไทย

เหลืออีกเพียงไม่ถึง 6 ปีเท่านั้น ที่มีการตั้งเป้าหมายว่าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปีค.ศ. 2030 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างกระตือรือร้นที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนทั้งในประเทศตนเองและในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยก็เป็นหนึ่งประเทศที่มีความพยายามขับเคลื่อนและผลักดันมาโดยตลอด จากรายงานความคืบหน้า Sustainable Development Goals Report 20232 ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 43 ที่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตาม SDGs จากจำนวนประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 166 ประเทศ 

เป้าหมายที่ประเทศไทยสามารถบรรลุผลตามเป้าได้แล้วและยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ SDG1 ขจัดความยากจน และ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม หากเป้าหมายที่เหลือล้วนเป็นเป้าที่มีความท้าทายที่สำคัญ โดยมีทั้งที่กำลังพัฒนาไปในแนวทางที่ดี หยุดนิ่งอยู่กับที่ และถดถอยลงอย่างน่าเป็นห่วง

ภาพจาก : Sustainable Development Report 2023

เป้าหมายกลุ่ม P1 สิ่งแวดล้อม มีความท้าทายที่สำคัญและไม่สามารถก้าวข้ามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 15 ระบบนิเวศบนบก ที่นอกจากจะสำคัญแล้ว สถานการณ์ยังแย่ลงอีกด้วย ในขณะที่เป้าหมาย กลุ่ม P2 คนและสังคม มีแนวโน้มการพัฒนาที่ดีขึ้นและเป็นความหวังให้กับการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย ส่วนเป้าหมายกลุ่ม P3 ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่ยังท้าทายแม้ว่าบางเป้าหมายอย่าง SDG 9 และ 11 จะมีการพัฒนาพอประมาณก็ตาม สำหรับเป้าหมายกลุ่ม P4 และ P5 ยังคงหยุดนิ่งอยู่ แผนภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายที่เหลืออีก 15 ข้อภายใน 6 ปีก่อนถึงปี 2030 

ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมาย SDGs

จากการสำรวจพบว่า หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยพบเจอความท้าทายหรือข้อจำกัดที่ทำให้การบรรลุเป้าหมาย SDGs เป็นเรื่องยาก3 

  1. เป้าหมายที่คลุมเครือไม่ชัดเจน หรือการไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน
  2. การทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย เป็นเรื่องยากที่จะรวบรวมให้ผู้คนทำงานร่วมกันได้
  3. ศักยภาพของคนและทรัพยากรในประเทศที่จะบรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้นำเสนอความท้าทายในบริบทประเทศไทยไว้ ดังนี้

  1. ภาควิชาการและงานวิจัยควรให้ความสำคัญกับ SDGs มากขึ้น
  2. การทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ หรือการทำงานข้ามศาสตร์
  3. ความสอดคล้องเชื่อมโยงของนโยบายและสถาบัน/องค์กร/ส่วนงาน
  4. อุดมการณ์-ทัศนคติทางการเมืองและเศรษฐกิจมีผลต่อมุมมองการพัฒนาตาม SDGs 

จะเป็นอะไรไหม ถ้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2030? 

แม้ SDGs จะไม่ใช่ข้อตกลงที่มีการบังคับหรือการลงโทษกันหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ หากแต่เป็นข้อตกลงเพื่อให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมได้พัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ฉะนั้น ประเทศใดที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ ผลลัพธ์ทางตรงคือ เป้าหมายในข้อนั้นก็ไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นในระดับประเทศและเทียบเท่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่สามารถเกิดขึ้นตามมาได้ คือ ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของประเทศ นั้น ๆ ในเวทีโลกลดลง ส่งผลต่อการค้า ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม หรือการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ จากต่างประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลงจากมาตรฐานความยั่งยืนที่ไม่เท่ากัน คุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศเพื่อนบ้านได้ นำไปสู่ความขัดแย้งทางด้านทรัพยากรต่อไป รวมไปถึงประสิทธิภาพในการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเวทีโลก4

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ SDGs ทำให้ทุกประเทศกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนา (สู่ความยั่งยืน) ไปพร้อม ๆ กัน ทุกประเทศต่างมีความท้าทายและเงื่อนไขของตัวเองที่ส่งผลทำให้การบรรลุเป้าหมายนั้นเป็นไปได้ยากพอ ๆ กัน 

สรุป

จากสถานการณ์และแนวโน้มของประเทศไทยในรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับว่าอยู่ในอันดับปานกลางค่อนข้างดี แต่หากพิจารณารายละเอียดลึกลงไปในแต่ละเป้าหมายและการดำเนินการแล้ว ประเทศไทยยังห่างไกลจากคำว่าบรรลุเป้าหมายอีกมาก จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคประชาชน ที่ปัจเจกบุคคลก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เช่นกัน 

อ้างอิง

1. SDG 101 | รู้หรือไม่? SDGs 17 เป้าหมายสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม https://www.sdgmove.com/2021/03/29/sdgs-5p/

2. Sustainable Development Report 2023, Thailand https://dashboards.sdgindex.org/static/profiles/pdfs/SDR-2023-thailand.pdf 

3. SDG Updates | ACT NOW! in “DECADE OF ACTION (2021-2030)” : อัปเดตความก้าวหน้า สำรวจความท้าทาย แล้วลงมือทำได้เลย! https://www.sdgmove.com/2021/02/04/sdgs-thai-decade-of-action/ 

4. Heading towards an unsustainable world: some of the implications of not achieving the SDGs https://link.springer.com/article/10.1007/s43621-020-00002-x 


  1. https://www.sdgmove.com/2021/03/29/sdgs-5p/ ↩︎
  2.  https://dashboards.sdgindex.org/static/profiles/pdfs/SDR-2023-thailand.pdf ↩︎
  3. https://www.sdgmove.com/2021/02/04/sdgs-thai-decade-of-action/ ↩︎
  4. https://link.springer.com/article/10.1007/s43621-020-00002-x ↩︎