จากบทความ อีก 6 ปี กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ เราได้รู้แล้วว่า สหประชาชาติแบ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เป็น 5 กลุ่มตามความเชื่อมโยงกันของเป้าหมาย หรือเรียกว่า 5P ได้แก่
P1 : Planet สิ่งแวดล้อม
P2 : People คนและสังคม
P3 : Prosperity ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
P4 : Peace สันติภาพและความสงบสุข และ
P5 : Partnership หุ้นส่วนความร่วมมือ
บทความนี้เราจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจรายละเอียดเป้าหมายกลุ่ม P1 Planet สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย SDG 5 เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG13) ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน และเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร (SDG14) ระบบนิเวศบนบก (SDG15) การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDG12) การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค (SDG6)

สถานการณ์ปัญหาในประเทศไทยในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางบก ทะเล ที่ส่งผลต่อความยั่งยืนในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ล้วนมีต้นเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัดที่จะรับได้ โดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้ใช้ “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundary)” ในการชี้วัดความสมดุลของธรรมชาติและ “ขอบเขต” ที่ปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ จากรายงานล่าสุดในปี 2023 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการรายงานข้อมูลครบทั้ง 9 ขอบเขตขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก พบว่ามีถึง 6 ขอบเขตที่อยู่ในเกณฑ์ทะลุวิกฤติไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความสมบูรณ์ของชีวภูมิ (Biosphere Intergrity) และการปนเปื้อนของสารหรือสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ในธรรมชาติ (Novel Entities) เป็นต้น1 ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับ SDGs กลุ่ม P1
ภาพจาก : Stockholm Resilience Center
ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จากการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล Chevening Thailand Policy Forum 2023 จัดโดย Thailand Chevening Alumni Association ชี้ว่า ปัญหาขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทรและระบบนิเวศบนบก ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกที่คุกคามมหาสมุทร ขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอื่นๆ จากการบริโภคของมนุษย์ ซึ่งขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จึงปนเปื้อนตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารและน้ำของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในมหาสมุทร จนมีสัตว์หลายชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
ดังที่เห็นได้จากปัญหาขยะพลาสติกที่คุกคามมหาสมุทร ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขยะลงทะเลสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก และประเภทของขยะที่พบมากที่สุด 10 อันดับแรกเป็นขยะที่มาจากการบริโภคของมนุษย์ เช่น ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว ถุงและห่อขนม ฯลฯ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก อย่าง พะยูน เต่าทะเล โลมาและวาฬ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้เสียชีวิตจากการกินขยะเข้าไป รวมทั้งทำให้สูญเสียที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจากการที่ขยะปนเปื้อนจนทำให้สิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นเสื่อมโทรม2
ภาพจาก : Richcarey
นอกจากนี้ ระบบการผลิตอาหารมีส่วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก การทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ตามความต้องการของตลาด โดยมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชไม่กี่ชนิดเฉพาะที่มนุษย์นิยมบริโภค แทนที่จะบริโภคอาหารที่หลากหลาย บริโภคตามฤดูกาล ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ลดลง จนเหลือเพียงบางชนิดอยู่ในพื้นที่เท่านั้น (homogenization)
ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จากระบบการผลิตอาหาร เช่น การปลูกพืชไร่เพื่อใช้ในการปศุสัตว์อย่างข้าวโพด อ้อย ส่งผลกระทบทางอ้อมให้กับสิ่งแวดล้อมคือ การเผาหลังจากเก็บเกี่ยวทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 การทำประมงทำลายล้างและประมงเกินขนาด ที่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ติดอวนลากขนาดใหญ่มาก็กระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรเช่นกัน รวมไปถึงการเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีและตกค้างปนเปื้อนในแหล่งดิน แหล่งน้ำ3
ในด้านการเข้าถึงน้ำสะอาด ยังพบความท้าทายคือในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้น้ำประปา ยังไม่ได้มีการควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมอย่างทั่วถึง สถิติจากรายงานความก้าวหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2559-2563 พบว่าในระหว่างปี 2553-2562 มีน้ำบริโภคในครัวเรือนเพียงร้อยละ 34.3 ที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค ในขณะที่ร้อยละ 49.1 ต้องปรับปรุงคุณภาพก่อนการบริโภค และร้อยละ 16.6 มีคุณภาพไม่เหมาะสมสำหรับการบริโภค4 ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำบริโภคและมีรายจ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
ผลกระทบ
ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลกในกลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ5 ซึ่งเริ่มปรากฏผลกระทบให้เห็นในปัจจุบันแล้ว ทั้งจากภัยธรรมชาติอย่างพายุ น้ำท่วม ไฟป่า เป็นต้น ที่รุนแรงขึ้นและเกิดถี่ขึ้น รวมไปถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่กระทบกับการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการทำเกษตรที่ทำให้พืชผลทางเกษตรเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้ หรือแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่เมื่อสภาพแหล่งท่องเที่ยวเปลี่ยนไป อากาศไม่หนาวเย็นเหมือนเดิม หรือสภาพธรรมชาติเปลี่ยนไป ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวน้อยลง6
ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังกระทบกับสุขภาพของคน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือฝุ่น PM2.5 ที่ทำให้คนจำนวนมากป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงการทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมี ทำให้ดิน น้ำ มีการปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้คนในพื้นที่นั้น ๆ เจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานานได้เช่นกัน
ความท้าทายและช่องว่างในการบรรลุเป้าหมาย
ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังมีความท้าทายและช่องว่างในการบรรลุเป้าหมาย ดังนี้
- การขาดข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ข้อมูลน้ำบาดาล ข้อมูลความเสี่ยงชายฝั่งและความเสี่ยงทางทะเล เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในการดำเนินงาน วิเคราะห์และแก้ไขปัญหา เนื่องจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ยังมีศักยภาพน้อยในการทำงานเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งขาดผู้ที่เข้าใจในบริบทชุมชนที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งมาจากการไม่ได้บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในการแก้ปัญหาร่วมกัน7 หากมีการสนับสนุนให้เกิดการประสานงานระหว่างองค์กรทั้งระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานงานผู้ที่มีความรู้และชำนาญในประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นได้ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ปราชญ์ชาวบ้าน และร่วมกันทำงาน จะทำให้การแก้ไขปัญหาและผลักดัน SDGs มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- แม้ภาครัฐจะมีแผนปฏิบัติการอยู่ เช่น แผนป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น แผนการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว แต่ยังมีความท้าทายในการนำแผนปฏิบัติการไปใช้เนื่องจากการลงมือทำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบางอย่างมีต้นทุนที่สูง เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงยังจูงใจให้อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ปรับเปลี่ยนไม่ได้8
- การบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้คือการบริโภคอย่างยั่งยืนหากประชาชนยังมีความเข้าใจน้อยในประเด็นปัญหานี้ การปรับเปลี่ยนมาสู่การบริโภคที่ยั่งยืนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำได้ยาก9
- ประชาชนมีส่วนสำคัญในการผลักด้น SDGs ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านการบริโภคที่ยั่งยืน หรือปัญหาใกล้ตัวอย่างการจัดการขยะในครัวเรือน ดังนั้นการสร้างความตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเผยแพร่ความรู้เรื่องการบริโภคที่ยั่งยืน แนวทางการแก้ปัญหาใกล้ตัวที่ประชาชนทำได้จะสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น
ใครทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง
- แมวกินปลา (SDG 12, 14)
แมวกินปลา คือธุรกิจที่สนับสนุนประมงพื้นบ้าน โดยรับซื้อปลาจากชาวมอแกลน บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ที่ทำประมงอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีเงื่อนไขในการรับซื้อ เช่น จับสัตว์น้ำตามฤดูกาล ไม่จับมาโดยวิธีที่ผิดกฏหมาย ไม่จับลูกปลา ปลาเล็ก หรือสัตว์น้ำที่อยู่ในฤดูวางไข่ เป็นต้น ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารทะเลจากแมวกินปลาโดยตรงได้ทางช่องทางออนไลน์และรอรับอาหารทะเลที่ส่งถึงบ้านทางเดลิเวอรี นอกจากนี้ แมวกินปลายังทำแคมเปญ “กินไม่ซ้ำ” ที่ชวนลูกค้ามากินปลาให้หลากหลายชนิด ลองกินปลาชนิดใหม่ที่ไม่เคยกิน และสามารถสะสมจำนวนชนิดปลาที่กินเป็นส่วนลดในการสั่งซื้อครั้งต่อไป
ภาพจาก : แมวกินปลา
- ZeroMoment Refillery (SDG 12)
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ลดขยะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วยการจำหน่ายสินค้าแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์ โดยลูกค้าจะนำภาชนะมาซื้อสินค้าเองและเลือกปริมาณที่ต้องการซื้อได้ เป็นการลดขยะบรรจุภัณฑ์และขยะที่เหลือทิ้งจากการซื้อของเยอะแล้วใช้หรือกินไม่หมด สินค้าที่จำหน่ายในร้านมีทั้งของกิน เครื่องปรุง ขนมขบเคี้ยว และของใช้อย่างน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนอกจากร้าน ZeroMoment Refillery แล้ว ยังมีร้านรีฟิลอื่นๆ อีกหลายร้านในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ภาพจาก : ZeroMoment Refillery
- Reviv (SDG 12)
หากข้าวของเครื่องใช้เสีย แล้วต้องจบด้วยการซึ้อใหม่ Reviv คือคอมมูนิตี้น้องใหม่ที่มีเป้าหมายส่งเสริมการใช้ซ้ำและการซ่อมในสังคมไทย ด้วยการชวนทุกคนมาซ่อมของให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง Reviv จัดกิจกรรม Repair Cafe ให้คนนำเสื้อผ้า จักรยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักสาน และนำมีดกับกรรไกรมาลับได้ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม Won Won รวบรวมข้อมูลร้านซ่อมข้าวของเครื่องใช้ ให้ผู้บริโภคเลือกไปใช้บริการร้านใกล้บ้านได้
ภาพจาก : Reviv
อ้างอิง
1. All planetary boundaries mapped out for the first time, six of nine crossed, Stockholm Resilience Center
2. คุณภาพระบบนิเวศทะเลไทยอาจวิกฤติ หาก “ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล” ยังไม่ถูกจัดการอย่างยั่งยืน
https://www.sdgmove.com/2023/07/26/plastic-pollution-sea-thailand/
3. รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565
https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/
4. รายงานความก้าวหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2559-2563
5. SCALA Thailand
6. SDG Updates | ทำความเข้าใจ Loss & Damage และผลกระทบที่คนไทยต้องเผชิญ เมื่อ Climate change รุนแรงขึ้น ประเด็นน่าสนใจงานเสวนาวิชาการศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green)
https://www.sdgmove.com/2021/02/20/loss-damage-climate-change/
7. แมวกินปลา
8. ZeroMoment Refillery
https://www.zeromomentrefillery.com/
9. Reviv
https://www.facebook.com/Reviv.thailand
- https://www.stockholmresilience.org/research/research-news/2023-09-13-all-planetary-boundaries-mapped-out-for-the-first-time-six-of-nine-crossed.html ↩︎
- https://www.sdgmove.com/2023/07/26/plastic-pollution-sea-thailand/ ↩︎
- https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/
↩︎ - https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://www.adaptation-undp.org/projects/scala-thailand#:~:text=The%20GermanWatch%20Global%20Climate%20Risk,located%20on%20flood%20prone%20plains. ↩︎
- https://www.sdgmove.com/2021/02/20/loss-damage-climate-change/ ↩︎
- https://www.sdgport-th.org/2022/07/tsdf-2022-report/ ↩︎
- https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎
- https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf ↩︎